การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงกลางเดือนพ.ค. และมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ทยอยออกมาช่วยหนุนให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนพ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 37.3 จาก 37.0 ในเดือนเม.ย. นอกจากนี้เมื่อพิจารณาดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าพบว่าทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนเม.ย.ที่ 39.4 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลต่อภาวะการครองชีพจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีความยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย. โดยเฉพาะในเรื่องของมุมมองต่อเงินออมที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนอย่างมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือนพ.ค.พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยลดลงหรือไม่ได้ทำเลย โดยเฉพาะการทานอาหารที่ร้าน การซื้ออาหารสดจากซุปเปอร์มาร์เกต รวมถึงการสั่งอาหารทางแอปพลิเคชั่นสะท้อนว่าฐานะทางการเงินของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบางและยังอยู่ในช่วงระมัดระวังการใช้จ่าย
ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยการฟื้นตัวของภาคส่วนต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนที่เริ่มปูพรมฉีดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ในช่วงกลางเดือนพ.ค. ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19
ดัชนีเงินออมระดับปัจจุบันปรับลดลง 2.3% ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 3.3% โดยเมื่อสอบถามว่าการออมเงินในเดือนพ.ค.เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มีการออมเงินลดลงจากเดือนก่อน 54.9% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากก่อนเกิดการระบาดในระลอกที่ 3 (เดือนมี.ค.) ที่ 43.9% นอกจากนี้ผลสำรวจล่าสุดระบุว่า ระดับเงินออมในปัจจุบันของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ (20.5%) จะสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อนมากเป็นระยะเวลา 3 เดือน ขณะที่ในต่างจังหวัด (19.1%) ได้อีก 1 เดือน
แหล่งข่าว กสิกรไทย เผยระดับเงินออมครัวเรือน พ.ค. ลดลง 54.9%, bangkokbiznews, 10 มิ.ย. 2564