ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลนานาประเทศต่างพูดถึงความท้าทายของเศรษฐกิจในปีหน้า หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ทุกประเทศจับตาและเตรียมรับมือ คือการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ซึ่งกำลังส่งผลกระทบทั่วโลก
การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) คืออะไร การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 2 ปีนับแต่มีโควิด ทำให้การผลิตของสินค้าหลากหลายประเภททั่วโลกหยุดชะงัก
หลายโรงงานต้องหยุดดำเนินการจากผลกระทบของโควิด และมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ แรงงานไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงาน บางโรงงานต้องปิดชั่วคราว ผู้ให้บริการขนส่งต้องหยุดส่งสินค้าเพราะมีผู้ติดเชื้อ การขนส่งข้ามพรมแดนโดยเฉพาะระหว่างประเทศมีข้อจำกัดขึ้นกับมาตรการควบคุมโรคและนโยบายเรื่องวัคซีน กระทบต่อการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทานสินค้าทั่วโลก เนื่องจากที่ผ่านมา ในยุคก่อนโควิด การผลิตสินค้าในประเทศหนึ่งพึ่งพาชิ้นส่วน วัตถุดิบจากหลายโรงงานในต่างประเทศ
ตั้งแต่มีโควิด การผลิตสินค้าหลายชนิดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายประเภททั่วโลกต้องหยุดชะงัก เพราะโรงงานผลิตแผ่นวงจรขนาดเล็ก (ชิปอิเล็กทรอนิกส์) หลายโรงงานตั้งในพื้นที่ที่โควิดระบาดรุนแรง ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า การขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์จะยังเป็นปัญหาต่อไปจนถึงปีหน้า กำลังการผลิตรวมทั่วโลกยังน้อยกว่าความต้องการ กระทบห่วงโซ่การผลิตสินค้าจำนวนมาก
ความท้าทายสำหรับประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการห่วงโช่การผลิตทั้งระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ เป็นความท้าทายที่รออยู่ทั้งต่อผู้ประกอบการและรัฐบาล ความท้าทายดังกล่าวมีหลายมิติ เช่น
ในแง่ผู้ผลิต ไทยในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนวัตถุดิบ เพื่อส่งออกให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศอื่นจะทำอย่างไร ถ้าผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้นมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนไปสู่ประเทศตนเองเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเทคโนโลยีทดแทนแรงงานมนุษย์ได้มีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีช่วยประหยัดต้นทุนได้มากกว่าเดิม หรือกลับกัน ในฐานะที่ไทยพึ่งพาชิ้นส่วน วัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อผลิตสินค้าหลายชนิด จะเตรียมรับมือทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไร
ในแง่ผู้บริโภค การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานส่งผลโดยตรงต่อเงินเฟ้อ และความสามารถในการบริโภคที่แท้จริงของประชาชน โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจไทยโตต่ำ เช่นปีนี้ที่คาดว่าขยายตัวเพียง 1% (จากการประเมินของธนาคารโลกและกระทรวงการคลัง ณ ต.ค. 2564) เงินเฟ้อจะยิ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนจำนวนมาก โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำ หรือครัวเรือนที่มีหนี้มาก เราจะเตรียมการรับมืออย่างไร
การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นความท้าทายที่รออยู่นับจากนี้ รัฐบาลไทยและผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือให้ดี
แหล่งข่าว การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ, bangkokbiznews, 16 พ.ย. 2564