นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าเร็วและมีความผันผวนในระยะสั้น มาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก คือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการแพร่ระบาดโควิด ระลอก 3 ยังรุนแรงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้ รวมถึงการกลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในรอบ 8 ปี และยังมีแนวโน้มเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยนอกประเทศเข้ามากดดัน
ทั้งนี้ยังต้องติดตามการคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19รอบนี้จะยืดเยื้อหรือไม่ ปัจจุบันยังคงคาดการณ์เงินบาทในปีนี้ที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ภายใต้กรณีฐาน คาดว่าจีดีพีปีนี้ที่ 0.9% สามารถคุมการแพร่ระบาดได้ในช่วงต้นถึงกลางไตรมาส 4 ปีนี้ มีการกระจาย วัคซีนได้มากขึ้น เศรษฐกิจค่อยๆปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ ทำให้เงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บางในช่วงปลายปี แต่ทั้งปีนี้ยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
แต่กรณีเลวร้าย โควิด-19ยังแพร่ระบาดต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 ยังล็อกดาวน์ต่อเนื่อง ผลกระทบลามสู่อุตสาหกรรมกระทบส่งออกทำให้ ธปท. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ได้ ทำให้จีดีพีปีนี้ ติดลบ 0.4% ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องในครึ่งปีหลังและสิ้นปีนี้อ่อนค่าทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์
นายยรรยง กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าในปีนี้ จะยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย เพราะเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดูแลได้ จากปัจจุบันที่มีทุนสำรองฯ อยู่ในระดับสูง ทำให้สามารถเข้ามาดูแลให้เงินบาทอ่อนค่าแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่ผันผวนมากนัก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกอีกด้วย ช่วงให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19ที่มีภาระต้นทุนอื่นๆ เพิ่มขึ้น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ธนาคารปรับมุมมองทิศทางเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้นในระยะสั้น ไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมที่ 32.50บาทต่อดอลลาร์ และมีโอกาสหลุด 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้
ทั้งนี้จากปัจจัยการแพร่ระบาดโควิด-19สายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงขึ้น จนมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเร่งตัวขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย มีควาามเสี่ยงมากขึ้นที่จะติดลบต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน หากการแพร่ระบาดลามสู่ภาคอุตสาหกรรมและอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งนักลงทุนกังวลจุดนี้ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)มีโอกาสลดคิวอีในปีนี้
แต่หากคุมการแพร่ระบาดโควิดรอบนี้ได้ภายในเดือน ส.ค.หรือเดือนก.ย.นี้ น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงได้ เหลือระดับ 1 หมื่นคน นักลงทุนต่างชาติน่าจะเริ่มกลับมาได้ คาดว่า หลังจากนั้น สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย ทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมากหรืออาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่าที่คาดจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก ทั้งผลกระทบโควิด-19สายพันธุ์เดลตายังลามในไตรมาส 4 ปีนี้ ล็อกดาวน์ต่อเนื่องทั้งปี และลามสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นจนกระทบส่งออก แม้เงินบาทอ่อนค่าก็ไม่ได้ช่วยส่งออกได้ เพราะส่งออกไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว ส่งผลให้จีดีพีปีนี้ติดลบ
รวมถึงยังไม่สามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมายในปีนี้ แน่นอนว่าหากสถานการณ์ยังเลวร้ายในเดือนส.ค.นี้ ธปท.มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมครั้งหน้าเดือนก.ย. ทำให้ความน่าสนใจสินทรัพย์ในรูปเงินบาทลดลงอีก
ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่กดดัน เงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องไปแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ต้องรอจับตาสถานการณ์คุมการแพร่ระบาดกลางเดือนส.ค.นี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน
แหล่งข่าว กูรูหวั่นไตรมาส3คุมโควิดไม่อยู่ ค่าบาทอ่อนหลุดแตะ’ 34 บาท’, bangkokbiznews, 9 ส.ค. 2564