ความร้อนแรงของกระแส “คริปโตเคอร์เรนซี” ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มมูลค่าขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ความหวือหวาของค่าเงิน ดึงดูดความนิยมจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีความรู้ในด้านเทคโนโลยี
รวมทั้งความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบธุรกิจที่ดาหน้ากันออกมา แถลงข่าวเปิดรับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญของไทยและต่างประเทศสามารถมาชำระค่าสินค้าและบริการของตนเองได้ แม้จะรู้ดีว่าสินทรัพย์เหล่านี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
โดยสามารถชำระค่าสินค้าบริการได้ทั้งกับผู้ประกอบการ โรง ภาพยนตร์ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกค่าย ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าทุกค่าย และที่ชัดเจนที่สุดก็คือการประกาศของห้างใหญ่แห่งหนึ่งร่วมกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งเป็นเจ้าตลาดประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อจัดตั้ง “ชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล” และรับชำระสินค้าและบริการในห้างสรรพสินค้าในเครือ รวมไปถึงพันธมิตรธุรกิจจำนวนมาก
ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาเตือนถึงการลงทุนและไม่สนับสนุนการลงทุน และการนำสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี่ไปซื้อสินค้าและบริการ
โดยให้เหตุผลถึงความผันผวนสูงของมูลค่าที่มีสูงมากขึ้นลงรวดเร็ว การเก็บรักษาที่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยี และเสี่ยงกับการโจรกรรมข้อมูลบุคคลรั่วไหล จนถึงอาจไปพัวพันกับขบวนการฟอกเงิน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนและร้านค้าได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ก.ล.ต.และ ธปท.ไม่ได้ห้ามการซื้อขายหรือเข้าไปลงทุนใน “คริปโตเคอร์เรนซี” อย่างสิ้นเชิง โดยยืนยันว่า เห็นประโยชน์จากการนำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลาย แต่ก็ได้แสดงความกังวลอย่างชัดเจน รวมทั้งได้ออกกฎเกณฑ์ และเตรียมออกเกณฑ์เพิ่มเติมออกมาดูแลเงินดิจิทัล “Digital Currency” เพื่อปกป้องความเสียหายให้กับนักลงทุน
“ทีมเศรษฐกิจ” ขอสรุปความเป็นห่วงของ ก.ล.ต. และ ธปท.ว่ามีประเด็นใดบ้าง ทั้งเรื่องความเสียหายที่อาจเกิดกับนักลงทุน ความกังวลต่อภาพรวม และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน สะท้อนมุมมองเอกชนที่เกี่ยวข้องถึงก้าวต่อไป “ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี” ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หลัง “ทางการ” ได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างชัดเจน
แหล่งข่าว ก.ล.ต.-ธปท.เกาะติดกระแส “คริปโตเคอร์เรนซี” ปรับกลยุทธ์ดูแลความเสี่ยงนักลงทุน, ไทยรัฐ, 13 ธ.ค. 2564