นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการกระทำผิดในโซเชียลมีเดีย และความเร็วของโซเชียลมีเดียสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดได้เร็ว และยังสร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นวงกว้างและง่ายขึ้น เช่น ผู้บริหารหรือไม่ใช่ผู้บริหารปล่อยข่าวลือผ่านโซเชียลมีเดีย บนเฟชบุ๊คหรือเว็บไซต์เพื่อสร้างราคาหุุ้น นับเป็นความท้าทายของ ก.ล.ต. ในปัจจุบัน แต่ไม่ยากเกินที่ ก.ล.ต. จะติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายแน่นอน
เนื่องจาก ก.ล.ต. ได้มีการจับพฤติกรรมและเทคนิคการตรวจสอบในยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี e-enforcement มาใช้ใน “การป้องกัน” และ “การตรวจจับ” ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งการมอนิเตอร์รูปแบบการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวไว้อยู่แล้ว
โดยมีการนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์ เช่น AI Enforcement และ E link สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจจับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งหาความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนได้เร็วขึ้น ซึ่งช่วยให้การตรวจสอบทำได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น นำสู่การบังคับใช้ทางกฎหมายได้เร็วขึ้นกว่าปกติ 20-30%
อีกทั้ง ก.ล.ต. ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการติดตามผู้กระทำผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดตามข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์รวบรวมเป็นหลักฐานอีกด้วย และเรียนรู้เทคนิควิธีการใหม่ของผู้กระทำความผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนารูปแบบการสืบค้นตรวจสอบได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ กระบวนการ e-enforcement ได้มีการประมวลพฤติกรรมรูปแบบการสร้างราคาหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ คือ เข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย และการมุ่งหมายให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายผิดจากสภาพปกติของตลาด (อำพรางทำให้บุคคลทั่วไปหลงผิด) ตามบทสันนิษฐานตามมาตรา 244/5 เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งผู้รับประโยชน์ เป็นบุคคลเดียวกัน , การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ โดยรู้ว่าตน/ผู้กระทำได้สั่งซื้อหลักทรัพย์เดียวกัน ,การส่ง แก้ไข ยกเลิกคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์สร้างราคาเปิด/ราคาปิด รวมถึงเพื่อขัดขวางการซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่น
“การทำงานของเราต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้างขึ้น ที่ผ่านมาเราพบเคสกระทำความผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์จากโซเชียลมีเดีย มีทั้งที่เป็นผู้บริหารและไม่ใช่ผู้บริหาร บจ. ไปพูดในโซเชียลผ่านเฟชบุ๊คและเว็บไซต์ ทำให้มีผลกระทบผ่านมายังราคาหุ้น โดยเราสามารถเข้าไปดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายได้โดยเร็วในระยะเวลาไม่ถึงปี เราทำงานร่วมกับทางตลาดหลักทรัพย์ติดตามความเคลื่อนไหว และเตือนผู้ลงทุน อีกทั้งผู้ให้ข่าวลือก็ต้องมีการให้เปิดเผยข้อมูล
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนในตลาด ทั้งสิ้น 760 บริษัท และมีรายการการจับคู่ซื้อขายมากถึง 1.1 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับในปี 2543 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดทั้งสิ้น 382 บริษัท และมีรายการจับคู่ซื้อขายเพียง 40,000 รายการ เท่านั้น
อีกทั้งในภาคตลาดทุนเองก็พบลักษณะการกระทำผิดที่มีการวางแผน การอำพรางพยานหลักฐาน และปิดบังซ่อนเร้น เพื่อให้ยากต่อการติดตามตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมเงินสด การใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อขาย ใช้บัญชีในการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากในหลายบริษัทหลักทรัพย์ และใช้บัญชีธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายมีความซับซ้อน
ดังนั้น ก.ล.ต. ได้คาดการณ์ทิศทางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ และดำเนินการในเชิงรุก นำมาวางแผนและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายนั้นๆ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงาน คิด และพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัยโดยนำเทคโนโลยีมาใช้
แหล่งข่าว ก.ล.ต. เผยปี64’จับคู่ซื้อขาย’1.1 ล้านรายการ งัดเอไอสกัดโซเชียลปั่นหุ้น, bangkokbiznews, 29 ก.ย. 2564