นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยลึกขึ้น และกว้างขึ้นมาก มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น โดยเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นอย่างไร เรื่่องที่ 1 รายได้คนไทยถูกกระทบรุนแรงมาก โดย “หลุมของรายได้” คนไทยที่หายไปลึกขึ้นมาก ธปท.ประเมินว่า ใน 3 ปีของโควิด คือ ปีที่แล้ว ปีนี้ และปีหน้า รายได้ครัวเรือนหายไป 2.6 ล้านล้านบาท โดยปี 63 หายไป 800,000 ล้านบาท ปี 64 หายไป 1 ล้านล้านบาท และปี 65 อีก 800,000 ล้านบาท
เรื่องที่ 2 คนว่างงาน และเสมือนว่างงานสูงขึ้นอยู่ที่ 3 ล้านคน โดยมีคนตกงานนานกว่า 1 ปีสูงถึง 170,000 คน เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากช่วงก่อนโควิด มีเด็กจบใหม่ที่ไม่มีงานทำ 290,000 คน และมีแรงงานที่ย้ายกลับถิ่นฐาน ซึ่งอาจมีงานทำแต่มีรายได้ลดลงมาก 1.6 ล้านคน และเรื่องที่ 3 การฟื้นตัวในประเทศที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นรูปตัว K โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 11-12%
นอกจากวัคซีน และการควบคุมโรคแล้ว สิ่งที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ดีที่สุด คือ มาตรการการคลัง ซึ่งที่ผ่านมามาตรการทางการคลังถือเป็นมาตรการหลักที่ช่วยส่งเงินเข้าระบบเศรษฐกิจและทำให้ขยายตัวต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการการคลัง เศรษฐกิจไทยจะแย่กว่านี้มาก “จำเป็นต้องใช้มาตรการที่สร้างตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจที่สูงๆ เช่น คนละครึ่ง หรือเร่งรัดค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้มีเงินใหม่เข้าระบบ และต้องออกให้เร็ว ให้ทันสถานการณ์ ความแรงของยา หรือมาตรการทางการคลังที่สมเหตุสมผลน่าจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท หรือ 7% ของจีดีพี ถ้าถามว่าหากรัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มอีก ธปท.กังวลเสถียรภาพหรือไม่ คำตอบคือ กังวล แต่ขณะนี้หากไม่ทำจะเสียหายมากกว่าทำ”
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปสูงสุดที่ 70% ของจีดีพีในปี 67 ถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ และหากทำแล้ว มีโอกาสใช้คืนได้ เพราะเป็นการกู้มาเพื่อขยายฐานของเศรษฐกิจ ฐานภาษีในอนาคต และเวลานี้สภาพคล่องที่จะขอกู้มีมากเพียงพอ และดอกเบี้ยที่ประเทศไทยได้ต่ำกว่าหลายประเทศมาก
ส่วนมาตรการสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท.นั้น ได้ผลที่ดี โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ 4.5 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.7 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอ ธปท.ต้องการทำใน 5 ด้านคือ 1.ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว 2.ปรับโครงสร้างหนี้ที่ตรงความต้องการเฉพาะของลูกหนี้ 3.ปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แค่การยืดหนี้ 4.ธนาคารพาณิชย์ และลูกหนี้ต้อง “รอดไปด้วยกัน” และ 5.ปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่สร้างความเสี่ยง หรือการขาดวินัยทางการเงิน รวมถึงเร่งปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี
แหล่งข่าว คนไทยรายได้หาย 2.6 ล้านล้าน พิษโควิด 3 ปีทำเศรษฐกิจฟื้นช้าแนะรัฐกู้เพิ่ม,ไทยรัฐ , 17 ส.ค. 2564