กกพ.เคาะปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) โดยจะจัดเก็บที่ 24.77 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่ายรวมเป็น 4 บาทต่อหน่วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเหตุขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนดันราคาพลังงานพุ่ง
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)
กกพ. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับเรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ที่อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ อีก 1.39 สตางค์ต่อหน่วย หรือเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ ที่จัดเก็บอยู่ที่ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมไปคำนวณร่วมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.76 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่ายจริง 4 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.82% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทย
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้จะต้องปรับขึ้นมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เข้ามาซ้ำเติมราคาพลังงานก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่หลายๆประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง
ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ประสบกับ ปัญหาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยที่ลดลงจากการเปลี่ยนผ่านการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในช่วงปลายอายุสัมปทาน ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น ซึ่งแอลเอ็นจีตลาดโลกก็มีราคาแพง
ดังนั้น กกพ.ต้องปรับสมมติฐานประมาณ การค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนต้นทุนจริง และเมื่อรวมกับวงเงินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับไว้ 38,900 ล้านบาท จะทำให้ค่าเอฟทีขึ้นสูงถึง 1.29 บาทต่อหน่วย แต่ กกพ. ได้ขอให้ กฟผ.แบกรับไว้ก่อนแล้วจะทยอยจ่ายคืนให้ในอนาคต ทำให้ค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.ปรับขึ้นในอัตราดังกล่าว เพราะในข้อเท็จจริง หาก กกพ.บริหารบนหลักการขึ้นค่าเอฟทีแบบขั้นบันไดก็จะต้องขึ้นค่าเอฟทีงวดละ 47.3 สตางค์ ต่อหน่วย
แหล่งข่าว คนไทยหนาวแน่! เจอบิลค่าไฟใหม่ ไฟเขียวขึ้นค่าเอฟที ดันค่าไฟต่อหน่วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์, ไทยรัฐ, 18 มี.ค. 2565