เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.64 นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 แต่ยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่สูง” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.7 และ 41.1 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -7.6 และ -18.2 สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -12.1 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 44.7 จากระดับ 46.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 แม้ว่ามาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน จะสามารถพยุงกำลังซื้อได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การบริโภคเอกชน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 33.6 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เริ่มมีการค้นพบผู้ติดเชื้อใน Cluster แคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่ง ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -5.6
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,057.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 41.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.9 ต่อปี
แหล่งข่าว 'คลัง' เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.64 ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า, bangkokbiznews, 28 มิ.ย. 2564