ความเสี่ยงเริ่มจำกัด

WealthUp

Moderator
Staff member
6.JPG

ถึงแม้ว่าความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายลงแต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะท่ามกลางความสงบก็ยังคงมีกระแสที่รุนแรงอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม รัสเซีย ยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย

เรามาเริ่มที่เรื่องสงคราม รัสเซีย ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะพลังงาน ต่างก็ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงันกันไปช่วงหนึ่ง และถึงแม้ว่าจะมีการขู่ที่จะใช้อาวุธที่ร้ายแรงขึ้น แต่ที่ผ่านมาการรบยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจน้อยลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ทำให้ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

ตอนนี้นักลงทุนต่างก็เริ่มมองว่าไม่น่าจะมีนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ ทำให้ภาวะการลงทุนเริ่มคลายตัวและมีมุมองในเชิงบวกมากขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องของความกังวลที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ณ ตอนนี้มุมมองก็เริ่มจะเปลี่ยนเล็กน้อย และปัญหาก็ถูกแบ่งออกเป็นเรื่องของภูมิภาคที่มีความต่างกัน ซึ่งทำให้เอเชีย ดูดีในแง่เป็นหลุมหลบภัย อันนี้ก็มุมมองที่เปลี่ยนไปบ้าง

ส่วนปัจจัยใหม่ที่ทำเอานักลงทุนมึนไปโดยเฉพาะในยุโรป ก็หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาทางการเงินของ Credit Suisse และรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขตลาดแรงงานและตัวเลขเงินเฟ้อ ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ดอกเบี้ย Fed Funds ในอนาคต โดยให้ความน่าจะเป็นที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยระดับร้อยละ 0.75 ในการประชุมต้นเดือนพ.ย.เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และผลตอบแทนพันฐบัตรสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นในช่วงแรกจนส่งกระทบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ

สำหรับเดือนพ.ย. ผมมองการประชุม FOMC ในช่วงต้นเดือนวันที่ 1-2 พ.ย. มีความสำคัญน้อยลง จากการที่ตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.75 เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ต้องติดตามถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell ประธาน Fed ว่าจะออกมามีทิศทาง Dovish/Hawkishอย่างไร

ส่วนในระหว่างเดือน คงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯกันต่อ เนื่องจากจะส่งผลต่อไปยังการคาดการณ์ Fed Funds futures ในตลาดได้ ซึ่งต้องบอกว่าในปัจจุบัน นักลงทุนยังคงมีมุมมอง 50:50 ระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 กับ 0.75 ในการประชุม Fed ครั้งสุดท้ายของปีวันที่ 13-14 ธ.ค.

ส่วนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นั้น หากผลการเลือกตั้งออกมาเป็นไปตามที่โพลทุกสำนักมองไว้ว่าพรรครีพับลิกันจะสามารถกลับมายึดครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ มองจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐฯในทางบวกได้ โดยหากอ้างอิงจากสถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 1990 จะพบว่าแทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในสภาล่าง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯมักมีการตอบรับเชิงบวกได้ราว ร้อยละ 4 - 5 เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการเปลี่ยนขั้วจากพรรคเดโมแครตไปเป็นพรรครีพับลิกัน ซึ่งอธิบายได้ด้วยเหตุผลของความคาดหวังในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยในฝั่งของพรรครีพับลิกันนั้นอย่างที่เราทราบกันว่ามักจะออกนโยบายที่เน้นในเรื่องของการลดภาษีเป็นสำคัญ ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ตลาดหุ้นชื่นชอบอยู่แล้ว

ดังนั้นในเดือนพ.ย.ก็น่าจะเป็นเดือนที่ภาวะการลงทุนค่อนข้างดี ความเสี่ยงค่อนข้างจำกัดทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทยเพราะเรามักจะมีการพิจารณานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี ทำให้มีมุมมองเป็นบวกในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะกลุ่มบริโภค เรายังแนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นร้อยละ50 โดยเป็นหุ้นไทยร้อยละ20 หุ้นญี่ปุ่น จีน และสหรัฐ ประเทศละร้อยละ10 ตราสารหนี้ระยะสั้น ร้อยละ 20 น้ำมันทองคำและREITsประเภทละร้อยละ 10 เท่าๆกัน

แหล่งข่าว ความเสี่ยงเริ่มจำกัด, bangkokbiznews, 02 พ.ย. 2565
 

Members online

No members online now.

Forum statistics

Threads
12,180
Messages
12,435
Members
319
Latest member
SEO01

สนับสนุนโดย

Top