ปรากฏการณ์ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม” ฐานะผู้นำรัฐบาล ชะลอ การทูลเกล้าฯ กฎหมายสำคัญ อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ และ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งแก้ไขประเด็นระบบเลือกตั้ง ออกไปทั้งที่ก่อนหน้านั้น มีท่าทีเร่งรัด ถือเป็นการแสดงท่าที ที่ “ฝ่ายค้าน” ประเมินว่า ออกอาการลังเล และสะท้อนความไม่มั่นใจว่า จะคุมเกมในสภาฯ ได้อยู่หมัดเหมือนก่อน
แม้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี จะแจงต่อการชะลอทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ “คณะรัฐมนตรี” (ครม.) เห็นชอบ เมื่อ 21 กันยายน ว่า อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะตราเป็น “พ.ร.บ.” หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องรอให้สภาฯ เปิดสมัยประชุม อีกกรณีหนึ่งถ้าออกเป็น พ.ร.ก. รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำเสนอต่อสภาฯ หากอยู่ในระหว่างปิดสมัยยประชุมต้องเรียกประชุมวิสามัญ
ขณะเดียวกันยังกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ สภาฯ ตรวจสอบถ่วงดุล ให้ ครม. เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาและลงมติอนุมัติโดยไม่ชักช้า หากอยู่นอกสมัยประชุม และรอเปิดสมัยจะชักช้า ต้องเรียกประชุมสมัยวิสามัญ ทั้งนี้ยังกำหนดการผ่อนคลาย ไม่ต้องเปิดประชุมวิสามัญ ได้ด้วยว่า “การพิจารณา พ.ร.ก. จะต้องทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภาฯ นั้นๆ”
อย่างไรก็ดี ในเงื่อนไขที่สภาฯ ต้องอนุมัติ พ.ร.ก. ด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง นั้น ถูกมองว่าคือ เงื่อนไขสำคัญ ที่ “นายกฯ” ขอชะลอการทูลเกล้าฯ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ทั้งที่ในสมัยบริหารของ “พล.อ.ประยุทธ์” กับการเสนอ พ.ร.ก.รวม 8 ฉบับ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปฐมบทของ “ความกลัว” นั้น มีผู้ประเมิน ว่า เกิดจากรอยร้าว ของการกุมอำนาจ ระหว่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ที่คุมสภาฯ และมีคณะขับเคลื่อน ในก๊วนของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังต่อสายเข้าไม่ถึง “ส.ส.” ขณะที่คณะขับเคลื่อนงานฝั่งตนเอง มี "บารมีไม่มากพอ” ดังนั้น หากยังปราบ “ส.ส.ที่พยศ” ไม่อยู่ อาจทำให้เกมอำนาจ ถูก เปลี่ยนมือ
แหล่งข่าว จังหวะ “ตั้งรับ” เพื่อ รอ “รุก” ปรากฏการณ์ “เขา (ยัง) อยากอยู่ยาว", bangkokbiznews, 08 ต.ค. 2564