นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้หารือสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ครัวเรือนคนไทย ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง ได้สั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐพิจารณาช่วยประชาชน โดยพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 0% ไปจนถึงปลายปีนี้ สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องจัดทำแนวทางเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ แล้วนำมาเสนอกระทรวงการคลังภายในสัปดาห์นี้ เพื่อประกาศเป็นมาตรการช่วยเหลือต่อไป
กระทรวงการคลังยังได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยให้ในส่วนพิโกไฟแนนซ์ พลัส เหลือ 28% จากเดิม 36% ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 28% เช่นเดียวกัน เพื่อลดภาระประชาชนในช่วงที่โควิด-19 ส่วนแนวทางยกเลิกเครดิตบูโร เพื่อให้อนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเครดิตบูโรสามารถช่วยในการคัดกรองลูกหนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้บังคับว่าธนาคารต้องใช้ ซึ่งการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ไม่ได้ใช้ข้อมูลเครดิตบูโร
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนลูกค้าไปจนถึงสิ้นปี 2564 เช่น ลดเงินงวดผ่อนชำระเหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดที่ผ่อนชำระในปัจจุบัน ซึ่งเงินงวดที่ผ่อนชำระจะนำไปตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นต้น โดยการช่วยเหลือในครั้งนี้จะครอบคลุมทั้งลูกค้าของ ธอส. รวมถึงลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าร่วมมาตรการของธนาคาร
ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรเพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ช่วยเหลือลูกค้าไปจนถึงเดือน มี.ค.65 ตามสิ้นปีบัญชีการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เพราะปัจจุบัน ธ.ก.ส.ก็ยังดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว
แหล่งข่าว จี้แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเหลือ 0% คลังใจร้อนแก้หนี้สัปดาห์นี้จ่อออกมาตรการ, ไทยรัฐ, 23 มิ.ย. 2564