จ่อขึ้น “ค่าแรง” ปีนี้ กระทบหุ้นตัวไหนบ้าง?

WealthUp

Moderator
Staff member
Optimized-12.jpg

รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม ธนิต โสรัตน์ เสนอว่าการขึ้นค่าแรงควรสอดรับกับเงินเฟ้อปีนี้ที่ไม่เกิน 5% สำหรับความคืบหน้าในการปรับขึ้นค่าแรง ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ได้ประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ภายใต้สมมติฐานว่ามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 5-10% หรือ เพิ่มขึ้น 17-33 บาทต่อวัน โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ พบว่า

1. กลุ่มร้านอาหาร จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการที่ใช้พนักงานค่อนข้างมาก มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานสูงราว 38.5% ของต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรณีปรับขึ้นค่าแรง 5-10% จะกระทบกำไรสุทธิปี 2566 ราว 7.8% และ 15.3% ตามลำดับ เช่น บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ค่าแรงคิดเป็น 29% ของต้นทุนทั้งหมด กระทบกำไรสุทธิ 8.3% และ 16.5% ตามลำดับ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 48% กระทบกำไรสุทธิ 7.2% และ 14% ตามลำดับ

2. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย 11.4% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบ 3.8% และ 7.7% ตามลำดับ เช่น บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ค่าแรงมีสัดส่วน 12% คาดกระทบกำไรสุทธิ 5.5% และ 10.9% ตามลำดับ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ค่าแรงมีสัดส่วน 6.4% คาดกระทบกำไรสุทธิ 2% และ 4% ตามลำดับ

3. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย 5.4% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบจำกัดราว 2% และ 3.9% ตามลำดับ เช่น บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 6.5% คาดกระทบกำไรสุทธิ 3.3% และ 6.6% ตามลำดับ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 7% คาดกระทบกำไรสุทธิ 1.4% และ 2.9% ตามลำดับ

4. กลุ่มเกษตรต้นน้ำ เช่น ถั่วเหลือง น้ำตาล ยางพารา และมันสำปะหลัง คาดได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.6% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบเพียง 1% และ 1.9% ตามลำดับ เช่น บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ค่าแรงมีสัดส่วน 3% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกระทบกำไรสุทธิ 1% และ 2% ตามลำดับ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ค่าแรงมีสัดส่วน 1.5% คาดกระทบกำไรสุทธิ 1% และ 1.9% ตามลำดับ

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่มค้าปลีกที่ฝ่ายวิจัยศึกษา จากประเด็นการขยับเพดานราคาดีเซลและการเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งจะกระทบต้นทุนการดำเนินงานระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานที่คิดเป็น 6.4% ของรายได้ในปี 2565

ซึ่งผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานมากสุดคือ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM 17% ของรายได้ ตามด้วยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ที่ 8% ของรายได้ ขณะที่ค่าขนส่งส่วนใหญ่อยู่ที่ราว 1-2% ของรายได้ ซึ่งปกติมักผลักภาระให้คู่ค้าและผู้บริโภคได้อยู่แล้ว ความกังวลหลักจึงอยู่ที่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ

หากใช้สมมติฐานขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 10% จากฐานปัจจุบัน 331 บาทต่อวัน และสัดส่วนพนักงานระดับปฎิบัติการ 50% ของพนักงานรวม คาดกระทบต่อประมาณการกำไรของกลุ่มราว 7-8%
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวน่าจะเป็นบวก จากกำลังซื้อและยอดขายสาขาเดิมที่เพิ่มขึ้น ช่วยกลบส่วนต่างต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งข่าว จ่อขึ้น “ค่าแรง” ปีนี้ กระทบหุ้นตัวไหนบ้าง?, bangkokbiznews, 01 พ.ค. 2565
 

Members online

No members online now.

Forum statistics

Threads
12,180
Messages
12,435
Members
319
Latest member
SEO01

สนับสนุนโดย

Top