ศบศ.เตรียมเคาะมาตรการพยุงการจ้างงาน ช่วยผู้ประกอบการระดับกลาง ใช้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท สศช.เล็งวาง 3 เงื่อนไข จำนวนเงิน ระยะเวลาช่วย “หอการค้า”หนุนรัฐใช้เงินกู้ร่วมจ่ายค่าจ้าง 50%
พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่มีผลใช้บังคับแล้วส่วนหนึ่งมีแผนใช้เพื่อการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการรยกลางและการรักษาการจ้างงาน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) วันนี้ (4 มิ.ย.) จะพิจารณามาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างรวดเร็วหลังจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดจากโควิดในระลอกล่าสุด และมีผู้ประกอบการที่รอความช่วยเหลือของมาตรการนี้จำนวนมาก
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินกู้ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาจจะเป็นผู้ประกอบการระดับกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยากซึ่งในกลุ่มนี้ต้องได้รับมาตรการในการช่วยเหลือที่แตกต่างไปจากเดิม
แหล่งข่าว ชง ศบศ.ใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน 'พยุงจ้างงาน' เอกชนหนุนรัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง 50%, bangkokbiznews, 04 มิ.ย. 2564