นายประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ทั่วโลกประสบปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยต้องปรับแผนเลิกไลน์การผลิตรถยนต์บางรุ่นที่ใช้ชิปจำนวนมากลง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชิ้นส่วนอื่นๆในประเทศตามมา แต่ยังถือเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก คงต้องติดตาม สถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด สิ่งที่กังวลขณะนี้คือการปรับตัว ของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพื่อรับมือกับแผนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของไทยที่จะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตอีวี โดยกำหนดให้ปี 2578 ผู้ขับขี่รถยนต์ที่จดทะเบียนยานยนต์ใหม่ ทำได้เฉพาะยานยนต์ไร้มลพิษ ZEV 100% (Engine Ban) ซึ่งสมาคมไม่ได้คัดค้าน แต่เห็นว่าเวลาดังกล่าวเร็วเกินไป รัฐบาลยังไม่มีแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับผู้ชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะเกือบทุกกิจการเป็นคนไทย ซึ่งสมาคมมีสมาชิกถึง 600 ราย หากปรับตัวไม่ทันมากกว่า 50% อาจถึงขั้นปิดกิจการ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขาดแคลนชิปที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่อาจมีแนวโน้มตึงตัวในขณะนี้ หลังจากที่ไต้หวันเผชิญการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น จึงเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตชิปที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของไต้หวัน.
แหล่งข่าว ชิ้นส่วนยานยนต์จ่อปิดกิจการ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด “ชิป” ขาดตลาด แผนผลิต “อีวี” ป่วน, ไทยรัฐ, 27 พ.ค. 2564