เมื่อผลวิจัยนโยบายกัญชา 6 ต้น ออกมาชี้ชัดว่าการปลูกกัญชาจะช่วยให้เกษตรกรทำกำไรได้ แต่ขณะเดียวกันนักวิชาการหลายๆท่านกังวลถึงปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา....
ผลวิจัยในเรื่อง "การถอดบทเรียนการปลูกกัญชาทางการแพทย์ของวิสาหกิจชุมชน กรณีศึกษาบ้านโนนมาลัย" จัดทำโดย นักวิจัย ภก.ชัยสิทธิ์ สุนทรา เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงคอุบลราชธานี ในหลักสูตรบริหารจัดการผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพร สภาเภสัชกรรม ซึ่งเสนอในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ สถาบันกัญชาทางการแพทย์
โดยผลการศึกษา พบว่า การปลูกกัญชา 6 ต้น นั้นสามารถสร้างผลกำไร ให้แก่เกษตรกรได้ตั้งแต่รอบแรกของการปลูก โดยมีในช่วงระยะเวลา 8 เดือน พบว่าในภาพรวมชุมชน 7 แปลงปลูก มีต้นทุนคงที่ 80,201 บาท ต้นทุนผันแปร 37,931 บาท รวมต้นทุนทั้งหมด 118,132 บาท และสามารถสร้างรายได้สุทธิ 148,286 บาท
ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของนโยบายการปลูกกัญชา 6 ต้น ว่าสามารถทำกำไรให้แก่ผู้ปลูกได้ และยังได้องค์ความรู้เรื่องการปลูก ตั้งแต่ ดิน ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว และการนำไปใช้ประโยชน์ ที่สามารถถ่ายทอดต่อให้เกษตรกรกลุ่มอื่นได้
ขณะเดียวกัน ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เตรียมเสนอ “ปลดล็อกกัญชา” ออกจากยาเสพติดโดยสิ้นเชิง
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปลดล็อกกัญชา-กัญชง ออกจากรายชื่อเสพติดให้โทษ ว่า ขณะนี้ทุกอย่างกำลังดำเนินการตามลำดับขั้นตอนทางกฎหมาย
โดยขั้นตอนแรก คือ การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ที่เป็นกฎหมายระดับรอง ซึ่งจะออกเป็นลักษณะของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ ประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยวันนี้เป็นก้าวแรกในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ที่มี นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการอย.ฯ เป็นประธาน
มติในที่ประชุมเห็นชอบให้ควบคุมสารสกัดจากทุกส่วนของกัญชา และกัญชง โดยเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดให้การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง ที่เป็นพืชในตระกูลแคนนาบิส (Cannabis) ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ
ยกเว้นที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ คือ ก.สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง เฉพาะที่ได้จากการอนุญาตปลูกในประเทศ ในทุกส่วนที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และ ข. สารสกัดจากเมล็ดกัญชา กัญชง ที่ได้จากการปลูกในประเทศเช่นกัน
“จะไม่มีชื่อกัญชาอยู่ในยาเสพติดแล้ว เราจะเหลือว่ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ สารสกัดที่ได้จากพืชกัญชา กัญชง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประโยชน์ของการใช้กัญชาได้” นพ.วิทิต กล่าว
นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า เราต้องป้องกันการนำเข้าสารสกัดจากกัญชา และกัญชง จากต่างประเทศ เพื่อดูแลผู้ประกอบการในประเทศ ด้วยการกำหนดข้อยกเว้น ก และ ข เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตไปก่อนหน้านี้ ยังสามารถสกัดและนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้
ดังนั้น สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชงทุกส่วน ยังเป็นยาเสพติด แต่ถ้ามีปริมาณสาร THC น้อยกว่า 0.2% โดยน้ำหนัก จะถือว่าไม่เป็นยาเสพติด แต่ต้องมาจากการอนุญาตปลูกในประเทศเท่านั้น
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาในวันที่ 19 ม.ค. นี้
แหล่งข่าว ชี้ชัด 19 ม.ค.นี้ “ปลดล็อกกัญชา” ออกจากยาเสพติดโดยสิ้นเชิง?, bangkokbiznews, 18 ม.ค. 2565