คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. แถลงเมื่อสองวันก่อนว่า ก.ล.ต.กำลังศึกษาพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยี “บล็อกเชน” และ “เว็บ 3.0” ซึ่งเป็น เทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distributed & Decentralized) มาประยุกต์ใช้ใน “ภาคการเงินและตลาดทุน” ซึ่งอาจนำไปสู่ “Virtual Capital Market” ที่อาจแพร่หลายในอนาคต รวมทั้งเพื่อให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ที่อาจทำให้ภูมิทัศน์ (landscape) ของตลาดทุนไทยเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2565
เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลตลาดทุนไทย โดยจะก้าวเข้าไปดูแล “ตลาดทุนในโลกเสมือนจริง” (Virtual Capital Market) ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังเติบโตขึ้นทุกวันจนอาจมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในอนาคต
เรื่องราวของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ผมเพิ่งอ่านจาก วารสาร การเงินธนาคาร ฉบับเดือนกันยายน ซึ่งได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ดร.ประสาร ได้ฉายภาพรวมของ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก เปรียบเทียบกับ ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงขนาดที่ใหญ่มหึมาของตลาดทุนโลกทั้ง ตลาดหุ้น และ ตลาดพันธบัตร ที่จะครองตลาดโลกไปอีกนาน ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ไทย ก็กำลังจัดตั้ง “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ชื่อว่า Thai Digital Assets Exchange หรือ TDX เพื่อเป็น แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร โดยได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว
การเปรียบเทียบ ภาพรวมตลาดทุนโลก กับ ภาพรวมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ทำให้เกิดภาพในจินตนาการหลายอย่าง รวมถึงทิศทางการลงทุนในอนาคต ผมขอนำตัวเลขกลมๆจาก วารสารการเงินธนาคาร มาฉายให้เห็นภาพรวมตรงนี้ เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565
อันดับ 1 มูลค่าตลาดพันธบัตรทั่วโลก (Global Market) อยู่ที่ 119 ล้านล้านดอลลาร์ กว่า 4,300 ล้านล้านบาท อันดับ 2 มูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลก (Global Market Cap) อยู่ที่ 102.2 ล้านล้านดอลลาร์ กว่า 3,700 ล้านล้านบาท อันดับ 3 มูลค่าตลาดทองคำทั่วโลก (Gold Market) อยู่ที่ 11.7 ล้านล้านดอลลาร์ กว่า 420 ล้านล้านบาท ในขณะที่ Market Cap ของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก อยู่ที่ 1.07 ล้านล้านดอลลาร์ ราว 39 ล้านล้านบาท อยู่อันดับ 5 ของโลก เทียบกับขนาดของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไม่ได้เลย
ดร.ประสาร กล่าวว่า Digital Asset ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯ แยกตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งป็น 3 หมวดหมู่คือ
1.คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) 2.โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) 3.โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดย Cryptocurrency แสดงตัวว่า “ใช้แทนงินตรา” เพื่อเป็นสื่อในการชำระเงิน ด้าน Investment Token เป็นการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ แสดงความเป็นเจ้าของในสิทธิการลงทุน คล้ายกับหน่วยลงทุนของกองทุนรวม หรือการแปลงให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) แต่ไม่ได้ฝากไว้กับนายทะเบียน แต่เก็บไว้ใน Wallet แบบต่างๆ ส่วน Utility Token จะเหมือนสิทธิการเป็นสมาชิกสามารถใช้บริการได้ตามที่กำหนด มีทั้งแบบพร้อมใช้และแบบไม่พร้อมใช้
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Investment Token และ Utility Token แต่ไม่สนใจ Cryptocurrency
ดร.ประสาร ให้เหตุผลที่ไม่สนใจคริปโตฯว่า ผู้บริหารระดับสูงของตลาดหลักทรัพย์ฯไม่เชื่อว่า Cryptocurrency จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ด้วยเหตุผล 4 ประการ ประการแรกเลยคือ ปัญหาเรื่อง “Trust” หรือ ความเชื่อมั่น การให้ทำหน้าที่เป็นสกุลเงินจึงเป็นเรื่องยาก.
แหล่งข่าว ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโลก+ไทย, ไทยรัฐ, 15 ก.ย. 2565