หลังจากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่ 3 อย่างที่รู้กันว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในช่วงไทม์ไลน์ทิ้งเวลา 15 วัน ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศใช้
ทว่าประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข นอกเหนือจากโมเดลเลือกตั้งที่จะต้องกลับไปใช้ “บัตร2ใบ” แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญหนีไม่พ้น “สูตรคำนวณส.ส.” บัญชีรายชื่อหรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 91แห่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยสูตรนี้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า ได้นำความมาจากมาตรา98 ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
ที่กำหนดให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม
ฉะนั้นหากลองคำนวณคร่าวๆโดยยึดตามผลคะแนนเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี2562 พบว่า เวลานั้นคะแนนเสียงเลือกทุกพรรคการเมืองรวมกันมีจำนวนทั้งสิ้น 35,441,920 คะแนน เมื่อนำมาหารด้วยจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อตามโมเดลปัจจุบันคือ 100 คน จะได้สัดส่วน “354,419คะแนน” ต่อ“ส.ส.บัญชีรายชื่อ1คน”
อ่านเกมแล้วไม่แปลกที่ความเคลื่อนไหวของบรรดา“พรรคเล็ก” ยามนี้จะเดินเกมขวาง ระบบเลือกตั้งบัตร2ใบและสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยการเดินสายขอเสียงส.ส.ให้ครบ1ใน10หรือ73คน เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหวัง “เตะสกัด” โมเดลเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ื
ไม่ต่างไปจากพรรคขนาดกลางไม่ว่าจะเป็น ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย และก้าวไกล ที่แม้ก่อนหน้าที่จะยืนยันเสียงแข็ง “มันจบแล้วครับนาย” และจะไม่ร่วมกับพรรคเล็กในการยื่นศาลเพื่อตีความร่างรัฐธรรมนูญ
ยามนี้พยายามเดินเกมฟื้น “ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม” หรือ MMP ซึ่งเคยถูกคว่ำในชั้นกมธ. สอดแทรกในกฎหมายลูกที่กำลังยกร่างขณะนี้ หวังเกลี่ยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มแต้มพรรคอีกทางหนึ่ง
ขณะที่ "2 พรรคใหญ่" คือพลังประชารัฐและเพื่อไทย รวมถึง "1พรรคกลาง" อย่างประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของร่าง แม้ยามนี้จะดูเหมือนจะเป็นต่อจากกติกาที่จะเกิดขึ้น
ทว่าถึงเวลาจริงอาจต้องไปลุ้นที่คะแนน "ป๊อปปูล่าโหวต" ที่จะต้องไม่ต่ำเป้าไปจากรอบที่แล้วมากนัก
โดยเฉพาะพลังประชารัฐในฐานะแกนนำรัฐบาล ที่เวลานี้กำลังเผชิญกับสภาวะคะแนนนิยมลดน้อยถอยลง จากนี้อาจต้องแก้เกมเร่งพลิกวิกฤติในการดึงคะแนนนิยมกลับคืนมา
ไม่ต่างไปจากพรรคเพื่อไทยซึ่งรอบแล้วใช้ยุทธศาสตร์"แตกแบงก์พัน" เกลี่ยคะแนนส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ แต่ดันเจออุบัติเหตุการเมืองคือ พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ
มารอบนี้อาจต้องปรับเกมเลือกเดินหมาก "ส่งทุกเขต-เก็บทุกแต้ม" เพื่อโกยคะแนนพรรคตุนไว้ในมือให้ได้มากที่สุด
จากนี้คงต้องจับตา หากไม่มีอะไรสะดุด "โมเดลเลือกตั้ง" ที่ไม่ต่างอะไรกับ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ เมื่อถึงเวลานั้นจะได้เห็นสัญญาณจากบรรดาพรรคการเมือง ในการ "ลั่นกลองรบ" สู่การชิงชัยในอนาคตอันใกล้
แหล่งข่าว ถอดสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ "พรรคปัดเศษ" สูญพันธุ์?, bangkokbiznews, 14 ก.ย. 2564