ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราคงจะได้เห็นการขยับตัวของธุรกิจธนาคารใหญ่ในไทย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกร และธนาคารกรุงเทพ ที่เข้าไปลงทุนซื้อกิจการหรือเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธุรกิจธนาคารของ “อินโดนีเซีย” ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของโลก
แม้ว่าธนาคารไทยหลายแห่งจะมีเป้าหมายขยายตลาดออกไปยังระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานหลายสิบปีแล้ว เช่น ธนาคารกรุงเทพที่เข้าไปเปิดสาขาแรกในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2511 แต่การเข้าไปเป็นเจ้าของธนาคารท้องถิ่น (Local bank) รวมถึงธุรกิจการเงินอื่นๆ นับว่าเป็นคลื่นที่พึ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานมาก
อย่างไรก็ตาม การขยับตัวของธนาคารไทยรายใหญ่ทั้ง 3 แห่ง สะท้อนภาพของการดำเนินธุรกิจธนาคารในไทย ที่อาจไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ตามที่ต้องการ การขยายการลงทุนจึงเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างการเติบโต แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใดจุดหมายของธนาคารไทยถึงเป็นอินโดนีเซีย?
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจราว 5.8% ต่อปี ทั้งยังมีกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดี โดยคาดว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะก้าวขึ้นเป็นอันดับที่ 7 ของโลก
เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของอินโดนีเซีย พบว่า ในเดือนกันยายน ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 17.2% ต่ำมากเมื่อเทียบกับไทยที่อยู่ในระดับสูงกว่า 90% ตรงนี้คือโอกาสของธุรกิจธนาคารไทย ในการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินเชื่อที่ยังมีความสามารถในการเติบโต
แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่แตกต่างระหว่างไทยและอินโดนีเซีย นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธนาคารรายใหญ่ในไทยให้ความสนใจ แต่อีกประการหนึ่งที่ทำให้อินโดนีเซียน่าสนใจมากขึ้น คือ Bank-based Financial System หรือการมีภาคธนาคารเป็นตัวขับเคลื่อนระบบการเงินในประเทศ
ระบบการเงินดังกล่าว ผลักดันให้ธนาคารมีส่วนสำคัญต่อการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย ประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดต่างชาติ รวมถึงไทย ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ดังนั้น การขยายกิจการของธุรกิจธนาคารไทยไปยังอินโดนีเซีย จึงมีส่วนช่วยขยายขอบเขตของการให้บริการลูกค้าธุรกิจชาติอื่นๆ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกของนักลงทุนไทยอีกด้วย
แหล่งข่าว ทำไม? “อินโดนีเซีย” จึงเป็นหมุดหมายของกลุ่ม “ธนาคารไทย”, bangkokbiznews, 31 ส.ค. 2565