สถานการณ์ปกติ ธุรกิจประกัน ถือว่ามีความมั่นคงทางการเงินสูง เนื่องจากเป็นการออกผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ การประเมินความเสี่ยงต้องจ่ายค่าสินไหมประกันบนหลักการ ทางคณิตศาสตร์นั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำที่จะเกิดขึ้น
จากการระบาดของโควิดในช่วงแรกปี 2563 การติดเชื้อในไทยไม่รุนแรงทำให้มีการออกประกัน " เจอ จ่าย จบ " จำนวนมากและกวาดเบี้ยประกันแบบถล่มทลาย ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ยอดขายประกันโควิดปี 2563 – ส.ค.2564 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท ขณะที่ยอดเคลมประกันในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงในไทยเพิ่มขึ้นรายเดือน
สถานการณ์ดังกล่าวพลิกกลับมาเป็นลบหลังมีการเคลมประกันอัตราสูงมาก จากกำไรอู้ฟู่ในปี 2563 เมื่อมาส่องผลกำไรล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2564 หลายบริษัททั้งขนาดใหญ่ และเล็กเผชิญการขาดทุนเป็นครั้งแรกก็ว่าได้
รายใหญ่ที่เผชิญขาดทุน “กรุงเทพประกันภัย” หรือ BKI อยู่ที่ 885 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไร 761 ล้านบาท หรือติดลบ 216 % เป็นการขาดทุนครั้งแรกของบริษัท เป็นผลมาจากการจ่ายมาจากค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น 128 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 4,397.7 ล้านบาท เปรียบเทียบ ปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 22,858.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% มีกำไรสุทธิ 2,705.6 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีมติ จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 15 บาทต่อหุ้น สำหรับปี 2563
“เครือไทย โฮลดิ้ง ” หรือ TGH ของกลุ่มอาคเนย์ หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มตระกูล “สิริวัฒนภักดี ” ขาดทุน 662 ล้านบาท ติดลบ 843 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไร 89 ล้านบาท ซึ่งบริษัทระบุได้รับผลกระทบจากธุรกิจประกันชีวิตมีกำไรลดลง 89 ล้านบาท หลังขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินลงทุน ธุรกิจ ประกันภัย มีค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยเพิ่มขึ้นตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันโควิด-19
ที่ขาดทุนหนักมากที่สุด “สินมั่นคงประกันภัย” หรือ SMK งวดดังกล่าวอยู่ที่ 3,662 ล้านบาท ติดลบ 2,388 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 160 ล้านบาท มาจากค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 7,552.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,309.89 ล้านบาท หรือ 236.76 % จากงวดเดียวกันของปี ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่มาจากค่าสินไหมทดแทนในไตรมาสดังกล่าวสูงถึง 339 % หรือ 6,815.69 ล้านบาท เป็นค่าสินไหมทดแทนโควิด 6,002.91 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่นๆ 812.78 ล้านบาท
สำหรับค่ายประกันที่ไม่เผชิญการขาดทุนแต่กำไรลดลงอย่างชัดเจน “ไทยรีประกันชีวิต” หรือ THREL มีกำไรในงวดนี้ 20 ล้านบาทลดลง 45.94% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหลักค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น 34 % รวม 764 ล้านบาท แบ่งเป็นการตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนโควิด 100 ล้านบาท
และ “ทิพย์ กรุ๊ป โฮลดิ้ง” หรือ TIPH ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “ทิพยประกันภัย” มีกำไร 378 ล้านบาท ลดลง 31.52 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่ายการจัดการกรมธรรม์ประกันภัยโควิด แต่ยังคงมีกำไรสุทธิงวด 9 เดือน 1,624.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 1,609.99 ล้านบาท และมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับในทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งบริษัทประเมินว่าสถานะของบริษัทยังมีความสามารถควบคุมได้ เนื่องจากกรมธรรม์ที่ขายคุ้มครองเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่าจากโควิด และไม่ได้ขายกรมธรรม์ประเภท “เจอ จ่าย จบ” ในช่วงที่ผ่านมา
จากตัวเลขผลประกอบการกลุ่มประกันภัยดังกล่าว เป็นปัจจัยที่เกินกว่าคาดการณ์ไว้ จนทำให้เริ่มมองถึงความเสี่ยงของธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น ว่าไม่ได้เป็นหุ้นหลบภัยจนทำให้ต้องมาตรวจสอบสถานะความแข็งแกร่งของแต่ละแห่งจะรองรับวิกฤติ เช่น โควิดได้มีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้ายิ่งในธุรกิจการเงินที่หากไม่มีความเชื่อมั่น โอกาสที่จะมองการเติบโตเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นในอนาคต
แหล่งข่าว ทุบประวัติศาสตร์ประกัน ขาดทุนระนาวพิษโควิด, bangkokbiznews, 16 พ.ย. 2564