ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยการศึกษาถึงผลกระทบแนวทางการออกเงินดิจิทัลระดับประชาชนของธนาคารกลาง (Retail CBDC) ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ธปท.จะนำมากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC โดยการออกเงินดิจิทัลภาคประชาชน จะไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบการเงินไทย
โดยเบื้องต้น Retail CBDC จะมีลักษณะสำคัญ คือ 1.ใช้จ่ายในรูปแบบคล้ายเงินสด โดยไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเงินฝากของสถาบันการเงิน 2.ยังคงอาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ 3.มีการกำหนดวงเงินที่ประชาชนถือครองได้ และระยะเวลาการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยใช้ทดแทนเงินสดและ e-money บางส่วนในระยะต่อไป นอกจากนั้น จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ระบุด้วยว่า การพัฒนา Retail CBDC จะเป็นอีกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย และเปิดกว้าง และแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต โดยหลังจากนี้ ธปท.เร่งดำเนินการออกแบบเงินดิจิทัลภาคประชาชนทดสอบใช้งานจริง (Pilot Test) ในขั้นพื้นฐาน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เริ่มที่การรับ แลก และชำระค่าสินค้าและบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สำหรับร้านค้าที่ร่วมให้บริการก่อน และจะเริ่มใช้ใน ธปท.ก่อน และขยายออกไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
แหล่งข่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่อทดลองใช้ “เงินดิจิทัล” ปี 65, ไทยรัฐ, 20 ส.ค. 2564