นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้ แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Financial landscape ที่ธปท.ออกมาเมื่อก.พ.ที่ผ่านมา ก็เพื่อเพิ่มความชัดเจนในสิ่งที่ธปท.อยากเห็นและไม่อยากเห็น รวมถึงการเชื่อมโยงต่อแนวทางการพัฒนาภาคการเงินในอนาคต
โดยแนวนโยบายอีกด้านที่สำคัญ คือ บทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุน “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะไทยมีความเสี่ยงสูง เห็นได้ จากแรงงานกว่า 1 ใน 3 ของไทยอยู่ในภาคเกษตรที่จะถูกกระทบจาก สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) และไทยติด อันดับ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านนี้ และการผลิตกว่า 13% ของจีดีพีของไทย ยังอยู่ในโลกเก่า และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรปได้
ทั้งนี้ยังมีบางจุดที่ไทยปรับตัวช้ากว่าประเทศอื่น ทั้งความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติของไทยยังอยู่อันดับ 39 จาก 48 ประเทศ และยังมีเอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้นยังปรับตัวยาก
ดังนั้นการช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง “ภาคการเงิน” จึงมีบทบาทสำคัญ ในการ สร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การดำเนินการเหล่านี้ต้องไม่เร็วเกินไป จนภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ช้าเกินไป จน ผลกระทบลุกลาม และแก้ไขได้ยาก ดังนั้น จังหวะเวลา และความเร็ว ของการดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ และแต่ละภาคส่วน
ทั้งนี้ธปท. จึงได้จัดทำแนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการ เปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์การปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น
แหล่งข่าว ธปท. หนุนแบงก์สู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จ่อออกแนวทางกำกับ ไตรมาส3นี้, bangkokbiznews, 24 ส.ค. 2565