นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. เริ่มเห็นแนวโน้มการกลับมาในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลเร็ว ได้แก่ Google Mobility และ Facebook Movement Range ที่เห็นพื้นที่สีแดงเบาบางลงในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการ พบว่า ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจขนส่งสินค้า
อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในโรงงาน และผลกระทบจากค่าระวางเรือที่สูง เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง โดยอุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบตอบแบบสอบถาม ได้แก่ กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ โควิด-19 ระลอกใหม่ ปัญหาการขนส่ง และคู่ค้าปิดโรงงาน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในตลาดที่อ่อนค่าทะลุ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น เกิดจากหลายปัจจัยเข้ามากระทบ ทั้งนโยบายการเงินในต่างประเทศที่กลับข้างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) มากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และกดให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ทั้งนี้ ธปท.มีการเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ความผันผวนที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัว โดยได้ปัจจัยหนุนจากจำนวนวัคซีนที่คาดว่าจะเข้ามาเพิ่มขึ้น รวมถึงมีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ระบาดดีขึ้น รวมถึงการทยอยเปิดเมืองในลักษณะแซนด์บ็อกซ์ที่คาดว่าจะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงตัวเลขไม่มากเท่าผลกระทบด้านสังคม
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.2564 ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงในหลายหมวดตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว หลังการระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้น
แหล่งข่าว ธปท.เผยแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ฟื้นตัว พร้อมดูแลเงินบาทผันผวน, bangkokbiznews, 30 ก.ย. 2564