น.ส.ภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการผ่อนคลายมาตรการการไหลออกของเงินทุน และการลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทย หลังจากที่ ธปท.ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวช่วยให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ และเข้าใจการถือครองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
ทั้งนี้ จากการติดตามผลการมาตรการการผ่อนคลายบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศของคนไทย หรือบัญชี FCD โดยไม่จำกัดวงเงินการฝาก และผ่อนคลายให้สามารถโอนเงินระหว่างบุคคลและลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น พบว่าการใช้บัญชี FCD ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้ง จำนวนบัญชีและผู้ใช้บริการ โดยปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้น 40% โดยในช่วง 5 เดือนหลังการผ่อนคลายเกณฑ์ (เดือน ธ.ค.63 ถึงเดือน เม.ย.64) ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 140,600 ล้านเหรียญฯ หรือ 4.22 ล้านล้านบาท ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นรายใหม่ เป็นกลุ่มบุคคลธรรมดากว่า 60%
โดยใช้ซื้อขายทองคำเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มาตรการปรับเกณฑ์และการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ง่ายและสะดวกขึ้นของนักลงทุนรายย่อย โดยได้เพิ่มวงเงินลงทุนรายย่อยเป็น 5 ล้านเหรียญฯต่อปี ยกเลิกการจำกัดวงเงินของการลงทุนผ่านตัวแทน เป็นต้นนั้น ทำให้มีนักลงทุนรายย่อยของไทยนำเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเกินความคาดหมาย นับจากไตรมาสสุดท้ายปี 63 ถึงเดือน พ.ค.64 คนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 17,800 ล้านเหรียญฯ หรือ 534,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ยการออกไปลงทุนต่อปีเพียง 3,000 ล้านเหรียญฯ หรือ 90,000 ล้านบาท
แหล่งข่าว นักลงทุนรายย่อยลงทุนหุ้นนอกสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบ 10 ปี, ไทยรัฐ, 30 มิ.ย. 2564