นโยบายเศรษฐกิจ จากปูพรม สู่ตรงจุด เพื่อรับมือวิกฤติโควิด-19

Foun Thai

Administrator
1603708420174.png นโยบายเศรษฐกิจเพื่อรับมือวิกฤติโควิดกำลังเปลี่ยนจากการปูพรมไปสู่ความตรงจุด เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ แต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบแตกต่างกันมาก มีความยืดเยื้อยาวนานขึ้น และมีความไม่แน่นอนสูง การดำเนินนโยบายจึงต้องตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น ในวันนี้ขอเชิญชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการปรับนโยบายเศรษฐกิจ ผ่านการต่อยอดเนื้อความบางส่วนจากการให้ทิศทางการทำงานกับพนักงาน และการพบสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ​

วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่มีลักษณะพิเศษต่างจากในอดีต ในครั้งนี้ วิกฤติเริ่มขึ้นที่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างฉับพลัน ผ่านการลดลงของรายได้ในวงกว้าง กระทบต่อความเป็นอยู่ของกลุ่มเปราะบางที่ต้องอาศัยเงินหมุนเวียน

จากรายได้ในแต่ละวันเพื่อดำรงชีพ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่มีภาระหนี้สินมาก ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งหรือแฮมเบอร์เกอร์ที่กระทบสถาบันการเงิน หรือกลุ่มผู้มีรายได้และสินทรัพย์มาก วิกฤติในครั้งนี้ไม่เคยมีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์ ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจึงต้องเร่งคิดค้นมาตรการต่างๆเพื่อรับมือ

บริบทเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เกิด ความแตกต่างของระดับการฟื้นตัว บางสาขาเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นตามวิถีชีวิตปกติใหม่ เช่น การขายของออนไลน์ บางพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในประเทศที่เดินทางเพื่อผ่อนคลายหลังเก็บตัวหลายเดือน แต่อีกหลายภาคส่วนจะยังไม่ได้รับยอดคำสั่งซื้อและยอดการใช้บริการ โดยต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์จึงยัง มีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทั้งในด้านระยะเวลาที่วัคซีนจะทำการผลิต และแจกจ่ายสู่วงกว้างได้สำเร็จ และระดับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้ นโยบายเศรษฐกิจต้องเดินหน้าจากเดิมที่ดำเนินการปูพรม ในวงกว้างเพื่อเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบยังมีสภาพคล่อง มาเป็นการดำเนินการที่ ตรงจุด ให้การช่วยเหลือกลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้า หรือกลุ่มที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นพิเศษ มีลักษณะ ครบวงจร มีความสอดคล้องกับปัญหาของแต่ละกลุ่มและคำนึงถึงการสร้างความเข้มแข็งให้พึ่งพาตัวเองได้ และมีความ ยืดหยุ่น สามารถเพิ่มหรือลดการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง เพื่อเป็นการ บริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอและยืนหยัดได้ หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อยาวนาน

น่าสังเกตว่า มาตรการด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังมีลักษณะปูพรม ภายใต้โครงการ เราไม่ทิ้งกัน สำหรับผู้อยู่นอกระบบประกันสังคม และการขอรับ ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย สำหรับผู้ประกันตน ก่อนที่จะกระตุ้นการบริโภค เช่น เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน โครงการ คนละครึ่ง และโครงการ ช้อปดีมีคืน

ในขณะนี้ ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนมาตรการที่มีลักษณะตรงจุดผ่านการออกแบบนโยบายร่วมกัน ระหว่าง ผู้แทนภาคธุรกิจ คือ เอกชน ผู้คุมแผน คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ดูแลงบประมาณ คือ กระทรวงการคลัง ตลอดจน หน่วยงานปฏิบัติการ

ทั้งนี้ การมีนโยบายเศรษฐกิจที่ตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและ ภาคธุรกิจในการปรับตัว จึงจะเป็นหัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตินี้ได้

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

*** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย***

แหล่งข่าว นโยบายเศรษฐกิจ จากปูพรม สู่ตรงจุด เพื่อรับมือวิกฤติโควิด-19, ไทยรัฐ, 26 ต.ค. 2563
 
Last edited:

Members online

No members online now.

Forum statistics

Threads
12,126
Messages
12,381
Members
319
Latest member
SEO01

สนับสนุนโดย

Top