ดัชนี PPI ของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนตุลาคมจากต้นทุนการขายปลีกน้ำมันเบนซินและยานยนต์ที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงอาจยังคงอยู่ชั่วขณะหนึ่งท่ามกลางห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ตึงตัว
Ryan Sweet นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Moody's Analytics กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอาจไม่ลดลงอย่างรวดเร็วอย่างที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจต่างๆ เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ดัชนี PPI สำหรับความต้องการขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนที่แล้วหลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนกันยายน พลิกกลับแนวโน้มการชะลอตัวแบบรายเดือนตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ ขณะที่ ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนตุลาคม PPI เพิ่มขึ้น 8.6% หลังจากที่เพิ่มขึ้นในทำนองเดียวกันในเดือนกันยายน
มากกว่า 60% ของ PPI ที่เพิ่มขึ้นในเดือนที่แล้วเป็นผลมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 1.2% ซึ่งตามการเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนกันยายน ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น 6.7% คิดเป็น 1 ใน 3 ของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซและน้ำมันเครื่องบินและเม็ดพลาสติกปรับตัวสูงขึ้น
การสำรวจจากสถาบันการจัดการอุปทานในเดือนนี้แสดงให้เห็นการวัดราคาที่จ่ายโดยผู้ผลิตและอุตสาหกรรมบริการที่เร่งตัวขึ้นในเดือนตุลาคม โดยผู้ผลิตเผยว่า "กำลังเผชิญเวลาในการผลิตวัตถุดิบยาวนานขึ้นเป็นประวัติการณ์ การขาดแคลนวัสดุที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และความยากลำบากในการขนส่งผลิตภัณฑ์"
นอกจากนี้ จากผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ของ Reuters ยังคาดว่า CPI ที่จะรายงานในวันพุธนี้ก็จะพุ่งขึ้นเช่นกัน หุ้นใน วอลล์สตรีทพลิกกลับจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก พันธบัตรปรับตัวขึ้น
Will Compernolle นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ FHN Financial ในนิวยอร์ก กล่าวว่า "ในขณะที่บริษัทต่างๆ รู้สึกว่าถูกกดดันจากพลังงานและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาด้านลอจิสติกส์ที่เรื้อรัง การขึ้นราคาผู้ผลิตน่าจะแข็งแกร่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า"
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังเชื่อว่าดัชนี PCE หลักในเดือนตุลาคมจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนกันยายน
แหล่งข่าว Gasoline, auto retailing boost U.S. producer prices โดย Reuters
แปลโดยทีม TradersThailand