พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งบทความพิเศษให้ “กรุงเทพธุรกิจ”ในโอกาสครบรอบ 50 ปี หนังสือพิมพ์ The Nation 1 ก.ค. 2564 ในมุมประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (Thailand Tomorrow) โดยระบุว่าภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุวิสัยทัศน์ ให้ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อจากนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านของประเทศไทย ประกอบด้วย 7 แผนงาน ได้แก่
แผนงานที่ 1 การสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางสังคม และให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการต่างๆ กับประชาชนตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่
แผนงานที่ 2 การต่ออดโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญใน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ศ. 2558–2565) และก่อให้เกิดการลงทุนจริงจนมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของการลงทุนของภาครัฐในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง 2562 ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี
แผนงานที่่ 3 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยจึงประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(CO2) สูงสุด (Peak Year) ในปี 2573 และปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608
แผนงานที่่ 4 อุตสาหกรรมเดิมต้องเข้มแข็งขึ้น เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในระยะต่อไป ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง รวมทั้งมีขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีสากล
แผนงานที่ 5 อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่สำคัญ 3 อุตสาหกรรม ประกอบด้วยอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ
แผนงานที่่ 6 การสร้างภูมิคุ้มกันและแต้มต่อให้ SMEs ที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2563 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.8 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นร้อยละ 42 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ และเอสเอ็มอีไม่เพียงเข้าถึงผู้บริโภค-ผู้รับบริการในทุกพื้นที่ แต่ยังมีการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82 ของการจ้างงานทั้งประเทศ
แผนงานที่ 7 การพัฒนาระบบการบริหารงานภาครัฐ ในด้านระบบบริหารงานภาครัฐ ที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทิ้งไม่ได้เพราะจะช่วยเสริมศักยภาพ สร้างความสะดวกในการทำธุรกิจและสามารถดึงดูดการลงทุนของประเทศได้ คือ การทำให้อันดับของประเทศไทยในเรื่องความยากง่ายการทำธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ดีขึ้น รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้คะแนนดีที่สุดจากดัชนีชี้วัดนี้ในปี 2565-2566 ดังนั้น ในปี 2564 นี้ รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงกระบวนการทำงาน
แหล่งข่าว 'ประยุทธ์' ดัน 7 แผนเคลื่อนไทย รับ 2564 ปีแห่งความท้าทาย, bangkokbiznews, 01 ก.ค. 2564