ผลพวงจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง หลังนานาชาติเริ่มตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก
โดยปัจจุบันรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 3 ของโลก มีกำลังการผลิตกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของกำลังการผลิตทั้งโลก และเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ โดยมีลูกค้าหลัก คือ ยุโรปและจีน
ล่าสุด สหรัฐประกาศแบนนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว และถ่านหินจากรัสเซีย ถือเป็นการตอบโต้ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังรัสเซียนำกำลังบุกถล่มยูเครน ตามด้วยสหราชอาณาจักรประกาศจะทยอยเลิกนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้
ส่วนกลุ่มประเทศในยุโรปยังเสียงแตก เพราะรัสเซียเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลัก จึงมีทั้งฝ่ายที่ต้องการให้คว่ำบาตรรัสเซีย และฝ่ายที่ยังสนับสนุนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย
ขณะที่รัสเซียออกมาขู่ทันทีว่าหากชาติตะวันตกแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะได้เห็นราคาน้ำมันพุ่งไปแตะ 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างแน่นอน
โดยเมื่อต้นสัปดาห์ราคาน้ำมันพุ่งแรงติดจรวด เดินหน้าทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จ่อทะลุ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับจุดสูงสุดตลอดกาลเมื่อเดือนก.ค. ปี 2551 ที่ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนดับเบิลยูทีไอจ่อทะลุ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เมื่อน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักสำหรับภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม การเดินทางท่องเที่ยว ขนส่ง ฯลฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ขึ้นตามไปด้วย กลายเป็นภาระสำหรับผู้บริโภค
ส่วนในมุมการลงทุน ย่อมมีทั้งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ประโยชน์คงหนีไม่พ้น หุ้นกลุ่มพลังงานที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากน้ำมันขาขึ้น กลุ่มโรงกลั่นที่จะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน
ในทางกลับกันกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันขาขึ้น จะเป็นธุรกิจที่อิงกับราคาน้ำมัน มีน้ำมันเป็นต้นทุนหลัก เช่น โรงไฟฟ้า, การขนส่ง, สายการบิน, ชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้าง, ยางมะตอย, สีทาบ้าน, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร
แหล่งข่าว ปรับพอร์ตเลือกหุ้นตามจังหวะ"น้ำมัน"ขึ้นลง, bangkokbiznews, 13 มี.ค. 2565