ธปท.เผยพร้อมเพย์คนใช้คับคั่งกว่า 66.9 ล้านหมายเลข ทำรายการ 30 ล้านรายการต่อวัน มูลค่าการโอนต่อวันทะลุ 94,000 ล้านบาท เตรียมต่อยอดลดต้นทุนภาคธุรกิจ สร้างแพลตฟอร์มกลางส่งข้อมูลดิจิทัลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพิ่มโอกาสเข้าถึงเงินทุน
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน กล่าวว่า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินดิจิทัล ในส่วนของพร้อมเพย์และคิวอาร์โค้ด เพื่อการโอนและชำระเงิน ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่สะดวก ปลอดภัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าในระบบออนไลน์สูงขึ้นมาก ล่าสุดเดือน ก.ย.พบว่า มีผู้ใช้บริการพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นมาที่ 66.9 ล้านหมายเลข และมีแนวโน้มการใช้งานสูงขึ้น มีการทำรายการเฉลี่ยต่อวัน 29.5 ล้านรายการ มูลค่า 94,100 ล้านบาทต่อวัน โดยเฉลี่ยคนไทยมีการโอนและชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ 297 ครั้งต่อคนต่อปี
แม้จะมีการโอนชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลแล้ว แต่ธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรายกลางรายย่อย (เอสเอ็มอี) ยังใช้เอกสารกระดาษในกระบวนการซื้อขายซึ่งมีต้นทุนสูง และใช้เวลานาน ธปท. และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ โดยจะเป็นแพลตฟอร์มกลางในการส่งข้อมูลเอกสารที่เคยเป็นกระดาษ เป็นข้อมูลดิจิทัลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
“การออกแบบแพลตฟอร์มนี้ จะใช้ประโยชน์จากมาตรฐานข้อความการชำระเงิน ISO 20022 ที่เป็นมาตรฐานสากล เอื้อให้สามารถส่งข้อมูลทางการเงินไปพร้อมกับการชำระเงิน เช่น การส่งใบแจ้งหนี้ (invoice) ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อสามารถชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ได้สะดวกและชำระเงินข้ามธนาคารได้ ขณะที่ผู้ขายเมื่อได้รับชำระเงินสามารถส่งข้อมูลใบกำกับภาษี (e-Tax Invoice) และใบเสร็จรับเงิน (e-Receipt) ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยจะเริ่มใช้ครึ่งหลังปีหน้า ซึ่งในต่างประเทศที่ดำเนินการแล้ว พบว่าสามารถลดต้นทุนเอกสารและการเดินทางได้ถึง 80% นอกจากนี้ ยังช่วยให้ธุรกิจมีข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้า และรับชำระเงิน (digital footprint) ที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้อีกด้วย”
น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.59-ก.ย.64 ธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 222,920 บัญชี วงเงิน 4,620 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวม 29,571 บัญชี คิดเป็นเงินสะสมรวม 629.44 ล้านบาท หรือ 13.62% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสียสะสม 36,524 บัญชี เป็นเงิน 858.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,159 บัญชี จากเดือน ส.ค.64 ที่มีหนี้เสีย 30,365 บัญชี วงเงิน 796 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ร่วมกับผู้ประกอบการออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิดให้ลูกหนี้ สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งสิ้น 23,172 บัญชี.
แหล่งข่าว พร้อมเพย์โอนวันละ 9.4 หมื่นล้าน คนใช้ 66.9 ล้านราย ธปท.จ่อต่อยอดธุรกิจ, ไทยรัฐ, 10 ธ.ค. 2564