หลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในวันที่ 25-26 ม.ค.2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการเยือนผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวสรุปว่า เป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน “ระดับปกติ” อย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้ ภายใต้ความพยายามเต็มความสามารถของทั้ง 2 ฝ่าย ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความร่วมมือ สร้างสรรค์ และพัฒนา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติระหว่าง 2 ประเทศ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ จาก “อุปทูต” ให้กลับมาเป็นระดับ “เอกอัครราชทูต” ดังเดิม รวมทั้งพิจารณาตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือทั้งส่วนภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนจับตามองใกล้ชิด เพราะอาจสร้างจุดเปลี่ยนของไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และช่วยทำให้การค้ากลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งการส่งออกของไทยปี 2564 มีการทำการส่งออกไปซาอุดิอาระเบีย 1,500 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกไทยทั้งหมด และหากไทยเปิดประตูการค้าได้มากขึ้นจะทำให้สัดส่วนทางการส่งออกไปซาอุดิอาระเบียกลับไปที่สัดส่วน 2.2% เหมือนปี 2532
ทั้งนี้ ซาอุฯ ถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนที่จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่วนนี้จะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยในการส่งสินค้าไป ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 27.5%ของการนำเข้าทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของซาอุฯ ทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยด้วยเช่นกัน
แหล่งข่าว ฟื้นความสัมพันธ์ซาอุฯ สนลงทุน “พลังงานหมุนเวียน” ในไทย, bankokbiznews, 27 ม.ค. 2565