พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมชี้แจงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 2.5 – 3.5% อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1 – 2%
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 4 – 5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7 – 1.7% ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปี 2565 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,511,000 ล้านบาท ลดลง 10.26% จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1.1 แสนล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท หรือ 13.8 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัด ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก ดังปรากฎอยู่ในคำแถลงนโยบายการจัดทำงบประมาณปี 2565 ของนายกรัฐมนตรีพบว่ามีประเด็นที่เป็น “ความเปราะบาง” ได้แก่ 1.การฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคการท่องเที่ยว 2.ความล่าช้าของการกระจายวัคซีน 3.ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรก 4.ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของภาคเกษตร และ 5.ความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกที่จะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยจนกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม
แหล่งข่าว มองเศรษฐกิจไทยผ่าน ‘พ.ร.บ.งบฯ65’ เติบโตแต่เปราะบาง?, bangkokbiznews, 06 มิ.ย. 2564