สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนสร้างความหวั่นวิตกไปทั้งโลก หลังรัสเซียตัดสินใจเปิดฉากบุกโจมตียูเครนในทุกทิศทางตั้งแต่ช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) ตามเวลาประเทศไทย ถือเป็นการใช้กำลังทางทหารที่รุนแรงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
โดยรัสเซียพุ่งเป้าโจมตีไปยังเขตพื้นที่กองทัพของยูเครน และใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศและเข้ายึดหลายพื้นที่ของยูเครนได้สำเร็จ
เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกดิ่งหนักทันที ตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์สั่งเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน โดยอ้างเหตุผลเพื่อปกป้องกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออก
กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งคริปโทเคอร์เรนซี ถูกเทขายยกกระดาน หลังนักลงทุนหนีตายหันไปซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้ราคาทองพุ่งกระฉูด
แต่เพียงแค่ข้ามคืนหลังมีข่าวว่า ผู้นำยูเครนส่งสัญญาณจ่อยกธงขาว ต้องการเจรจาสันติภาพ เพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศและประชาชนได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้
ประกอบกับพันธมิตรชาติตะวันตกที่ประกาศจุดยืดชัดเจนไม่ส่งทหารเข้าไปช่วยยูเครน ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าสถานการณ์รุนแรงน่าจะยุติในไม่ช้า
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ทีมกลยุทธ์ได้วิเคราะห์ผลกระทบของประเด็นความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในอดีตต่อตลาดหุ้นไทย ค่าเงินบาท พบว่านับตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหมด 7 ครั้ง โดย SET Index ใช้เวลาปรับฐานเฉลี่ย 26 วัน ราว -5.83%
โดยครั้งที่ตลาดปรับฐานแรง มักจะเกิดในตอนที่สหรัฐถูกจู่โจม -12.67% ถึง -18% ส่วนช่วงที่เกิดสงครามในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันกระทบตลาดเฉลี่ยราว -4%
ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ คาดตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวเชิงลบ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยกระดับมาตรการของชาติพันธมิตร โดย SET น่าจะแกว่งในกรอบ 1,650-1,667 จุด (กรอบการปรับฐาน +/-4% ใกล้ค่าเฉลี่ยสงครามในกลุ่มผู้ผลิตน้ำามัน)
สิ่งที่นักลงทุนควรประเมิน คือ หลังตลาดตอบรับความเสี่ยงด้านสงครามแล้วเสร็จ ตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวโดยให้ผลตอบแทน 1-3 เดือนหลังจากนั้น 8.12% ถึง 16.32% ถือเป็นผลตอบแทนที่น่าสนใจ
ดังนั้นจังหวะที่ตลาดปรับฐานในกรอบข้างต้น เป็นจังหวะให้ทยอยสะสมหุ้น Domestic เพื่อระยะกลางถึงยาว รับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แนะนำ KBANK, SCB, CPALL, MAKRO, AP, SC, ADVANC, GPSC, BDMS, TIDLOR, BEM
แหล่งข่าว ย้อนรอย "หุ้นไทย" เด้งแรง หลังวิกฤตความขัดแย้งยุติ, bangkokbiznews, 27 ก.พ. 2565