ประเทศไทย มีเป้าหมายท้าทายที่จะต้องเร่งดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ตามข้อตกลงปารีส(COP21) และการประชุมสุดยอดว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (IEA-COP26 Net Zero Summit) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี พ.ศ.2564 ประชุมออนไลน์ จัดโดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ และที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 (เจ้าภาพหลักการจัดเวทีเจรจาโลกร้อน) เพื่อหาแนวทางร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายในความตกลงปารีส
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระยะใกล้ (Catalysing Near-Term Implementation) ซึ่งการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ยังถือเป็นก้าวสำคัญไปสู่การประชุม COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2564 ซึ่งได้กำหนดแนวทางที่ภาครัฐ เอกชน นักลงทุน และพลเมืองต้องร่วมมือกันเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้สอดคล้องกับการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้โรดแมปขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ที่กำหนดสำหรับภาคพลังงานโลก ที่จะพัฒนาพลังงานโดยมีเป้าหมายที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเลย ภายในปี พ.ศ.2593 หรือราว 30 ปี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP จับมือกับ 10 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ,บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ,ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจผ่านการซื้อขายคาร์บอน
แหล่งข่าว รสก.-เอกชน ดันแพลตฟอร์มเทรดคาร์บอนเครดิต รับเมกะเทรนด์โลกมุ่งพลังงานสะอาด,bangkokbiznews, 04 ก.ค. 2564