การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัปจึงต้องมีแผนการสนับสนุนที่เข้มข้นมากขึ้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันด้วยหลายแนวทางทั้งการแก้ไขกฎหมายและการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสนับสนุนแต่ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน
ถึงแม้การพัฒนาสตาร์ตอัปไทยจะไม่ได้เป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน แต่ในปัจจุบันได้มีสตาร์ตอัปไทยที่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นได้หลายราย โดยเฉพาะเมื่อปี 2564 เพียงปีนี้ปีเดียวที่สร้างยูนิคอร์นหรือสตาร์ตอัปที่มีขนาดบริษัทเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ขึ้นมาในประเทศไทยได้หลายราย ทั้งแฟลช กรุ๊ป, Ascend Money และ Bitkub ซึ่งได้สร้างความตื่นตัวให้กับวงการสตาร์ตอัปไทยได้พอสมควร และสร้างความหวังว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัปของอาเซียน
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามผลักดันนโยบายการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ตอัป โดยรัฐบาลพยายามใช้กลไกของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายหน่วยงานให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พัฒนาตลาดทุนที่สอดคล้องกับสภาวะตลาดทุนทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น การพัฒนาตลาดทุนเพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ตอบสนองการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นนวัตกรรม เช่น ธุรกิจสตาร์ตอัป
รวมทั้งรัฐบาลเคยผลักดันให้ ก.ล.ต.หาช่องทางเพื่อรองรับธุรกิจสตาร์ตอัปในการระดมทุน โดยเฉพาะการจัดตั้งเวนเจอร์แคปปิตอล และแองเจิล ฟันด์ ซึ่งจะเป็นการใช้กลไกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อรองรับการระดมทุนสำหรับสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่การเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัป ต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินและจำเป็นที่ต้องมีช่องอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าลงทุนได้สะดวก รวมทั้งมีกลไกในการขายหุ้นสำหรับกองทุนหรือผู้ที่สนับสนุนเงินทุนในช่วงเริ่มต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลมีความพยายามในการปรับแนวทางการทำงานของหลายหน่วยงาน เพื่อรองรับการพัฒนาสตาร์ตอัป ไม่ว่าจะเป็นการวางแนวทางให้กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงรัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ตอัปให้แข่งขันกับภูมิภาคได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สตาร์ตอัปมีการขยายตัวสูง เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ที่หลายประเทศสนับสนุนการพัฒนาสตาร์ตอัปอย่างเต็มที่
แหล่งข่าว รัฐบาลอ่อนแรง สนับสนุนสตาร์ตอัปไทย, bangkokbiznews, 07 พ.ย. 2565