ลมหายใจ 'เศรษฐกิจไทย' ยังดีอยู่ไหม?

Foun Thai

Administrator
ลมหายใจ "เศรษฐกิจไทย" ยังดีอยู่ไหม? หลังจากต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ แล้ววัคซีนโควิดจะเป็นความหวังใหม่ของภาคธุรกิจ เศรษฐกิจของไทยได้หรือไม่?
1613617716641.png
ดังที่เคยเรียนผู้อ่านไว้ก่อนหน้าว่าผู้เขียนไม่ได้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่จนเกินไปหลังการระบาดรอบใหม่ แต่ก็จะไม่พุ่งทะยานเช่นกัน แม้ว่าเศรษฐกิจหลายประเทศจะพุ่งขึ้นหลังการแจกจ่ายวัคซีนกระจายเป็นวงกว้าง

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยไตรมาส 4 และทั้งปี 2563 รวมถึงปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งตอกย้ำมุมมองผู้เขียนมากขึ้น (แต่ก็มีบางประเด็นที่ผู้เขียนเห็นต่าง) จึงขออนุญาตนำมาขยายความ ณ ที่นี้

เริ่มต้นที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ที่หดตัว -4.2% ต่อปี (หรือขยายตัว 1.3% เทียบกับไตรมาสก่อน โดยปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว) ซึ่งฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่หดตัว -6.4% ต่อปี ผู้เขียนยอมรับว่าตัวเลขนี้ดีกว่าที่เคยคาดไว้ว่าจะหดตัวประมาณ -6% และต้องไม่ลืมว่าตัวเลขไตรมาส 4 นี้รวมช่วงที่เกิดการระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ธ.ค.แล้ว นั่นแปลว่าในเชิงโมเมนตัม เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง

หากพิจารณาในฝั่งการใช้จ่าย จะพบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้เป็นผลจากการสั่งสมสินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นหลัก โดยแปลความได้ว่าภาคการผลิตฟื้นตัวมากกว่าการใช้จ่าย ทำให้สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น (โดยสินค้าคงคลังเป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจโตถึง 4.9%)

สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นได้แก่ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ พลาสติก อัญมณี และข้าวเปลือก ซึ่งดูจากลักษณะส่วนใหญ่น่าจะเป็นสินค้าเพื่อการส่งออก บ่งชี้ว่าผู้ผลิตมีมุมมองว่าการส่งออกจะฟื้นตัวขึ้นในระยะถัดไปจึงเร่งผลิต ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและนำเข้าที่หดตัวน้อยลง ขณะที่เมื่อพิจารณาการบริโภคและลงทุนในประเทศ ก็มีสัญญาณของการฟื้นตัวหรือหดตัวน้อยลงเช่นกัน บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นขึ้น แม้ไม่หวือหวารุนแรง

แต่ภาคเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงได้แก่ ภาคบริการที่หดตัวถึงกว่า -75% ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยได้เพียงประมาณเดือนละ 3,000 คน จากที่เคยเข้ามาเดือนละประมาณ 3-4 ล้านคนในไตรมาสสุดท้าย อันเป็นผลจากการปิดประเทศและไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าในประเทศโดยไม่กักตัว ซึ่งการท่องเที่ยวที่ยังหดตัวแรงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา

ภาพดังกล่าวจึงสะท้อนเข้ามาสู่ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่ง ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น เกษตร อุตสาหกรรม โทรคมนาคม (ICT) และค้าส่งค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจฝั่งการใช้จ่าย

แม้ว่าภาคบริการจะยังได้รับผลกระทบจากโควิด แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสนี้มี 3 จุด คือ

(1) รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องถึงประมาณ 12% ต่อปี จากทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยาง ปาล์มน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้น และจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ข้าวโพด ไก่ ไข่ และมันสำปะหลัง ทำให้ช่วยสนับสนุนรายได้ของประชาชนในต่างจังหวัด

(2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออก

(3) ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเริ่มฟื้นขึ้นต่อเนื่องในทุกหมวด ทั้งอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่ามีความต้องการผลิตเพื่อส่งออกและ/หรือใช้ในประเทศในช่วงต่อไป

ภาพเหล่านี้สอดคล้องกับภาพใหญ่ของโลกที่ว่าความต้องการทั่วโลกเริ่มกลับมาตามสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งโภคภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการ work from home

เมื่อมองไปข้างหน้า ประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานของสภาพัฒน์ฉบับนี้คือ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 3.5-4.5% (ค่ากลาง 4%) เป็น 2.5-3.5% (ค่ากลาง 3%) ซึ่งโดยหลักเป็นผลจาก 4 ปัจจัยคือ

(1) การระบาดรอบใหม่ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง โดยสภาพัฒน์ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวลงจาก 5 ล้านคน เป็น 3.2 ล้านคน ทำให้รายรับนักท่องเที่ยวลดลงจาก 4.9 แสนล้านบาท เป็น 3.2 แสนล้านบาท (2) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จาก 30.7 เป็น 30.0 บาทต่อดอลลาร์

(3) ราคาน้ำมันดิบดูไบ จาก 46 เป็น 53 บาทต่อดอลลาร์ และ (4) สมมติฐานการค้าโลกจากโต 5.0% เป็น 6.7% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเพิ่มการเบิกจ่ายภาครัฐตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ และงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น

ปัจจัยต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจและการบริโภคขยายตัวลดลง แต่การส่งออกและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยหากเปรียบเทียบกับประมาณการของผู้เขียน จะพบว่ามุมมองจีดีพีและมูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวใกล้เคียงกันที่ 3% และ 6% แต่ผู้เขียนให้การบริโภคเอกชนสูงกว่าที่เกือบ 4% (ประมาณ 3.7%) ขณะที่ของสภาพัฒน์ให้ 2% ส่วนการลงทุนเอกชน ผู้เขียนให้ 2% แต่สภาพัฒน์ให้ 4% ด้านนักท่องเที่ยว ผู้เขียนให้ 5 ล้านคน (มาครึ่งปีหลัง) แต่สภาพัฒน์ให้ 3.2 ล้านคน (มาไตรมาส 4)

กล่าวโดยย่อคือ เมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐ ผู้เขียนยังคงเชื่อว่าการบริโภคจะมีแนวโน้มจะขยายตัวดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่และความต้องการที่ถูก “อั้น” ไว้ (Pent-up demand) หลังการระบาดบรรเทาลง ขณะที่ส่งออกสินค้าขยายตัวได้ดีจากความต้องการโลกที่กลับมา

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือ

(1) จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เพราะถ้าลดก็จะช่วยให้การเปิดประเทศเร็วขึ้น

(2) รัฐบาลจะเปิดให้มี Vaccine Passport (หรือการที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว) ได้เมื่อไร

(3) เศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งขึ้นจะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นหรือไม่

(4) การเบิกจ่ายมาตรการรัฐทำได้ดีหรือไม่ และมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่

(5) นโยบายการเงินจะผ่อนคลายเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในปัจจุบัน (ธปท.ลดการดูดซับสภาพคล่อง ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทในครึ่งหลังของปี 2563) ซึ่งผู้เขียนมองว่านี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ธปท.ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในทางอ้อม

ลมหายใจเศรษฐกิจไทยเริ่มแข็งแกร่งขึ้น แต่จะแข็งแรงเท่าใด ฟ้าเท่านั้นที่จะตอบได้

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่สังกัดอยู่)

แหล่งข่าว ลมหายใจ 'เศรษฐกิจไทย' ยังดีอยู่ไหม? Bangkokbiznews, 18 กุมพาพัน 2564
 

Members online

No members online now.

Forum statistics

Threads
12,180
Messages
12,435
Members
319
Latest member
SEO01

สนับสนุนโดย

Top