ความขัดแย้งระหว่าง "รัสเซีย" และ "ยูเครน" ที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาเมื่อนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 สั่งปฏิบัติการทางการทหารโจมตียูเครนอย่างเป็นทางการ โดยอ้างเหตุผลที่สหรัฐและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ละเมิดคำมั่นสัญญาเรื่องยูเครน รวมถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครน ฉบับใหม่ ซึ่งทำให้รัสเซียอ้างเหตุผลถึงความจำเป็นต้องปกป้องสิทธิของตนและนำมสู่การบุกเข้าโจมตีหลายเมืองในยูเครน
หลังจากนั้นสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐ อังกฤษและพันธมิตร ตกลงกันว่าจะตัดธนาคารรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจาก "ระบบสวิฟต์" โดยถือเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่สถาบันการเงินทั่วโลกใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ ถึงแม้ไทยจะส่งออกไปรัสเซียในปี 2564 มูลค่า 1,028 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการส่งออกรวม แต่ตลาดรัสเซียถือเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสขยายตัวสูง เพราะเศรษฐกิจกำลังขยายตัวและมีจำนวนประชากรมาก
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องวางแผนรับมือในกรณีที่ทำธุรกรรมทงการเงินกับผู้นำเข้ารัสเซียโดยตรงไม่ได้โดยเตรียมแผนเจรจาเพื่อเปิดแอล/ซีผ่านประเทศที่ 3 รวมทั้งทำธุรกรรมทางการเงินและการขนส่งสินค้าผ่านประเทศที่ 3 ที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย เช่น เบลารุส จีน ซึ่งแม้จะดำเนินการส่งออกได้ แต่จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าและต้นทุนทางการเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผู้ส่งออกต้องวางแผนบริหารธุรกิจที่รัดกุมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งหาทางลดต้นทุนส่วนอื่น
การขนส่งสินค้าจากท่าเรือในประเทศไทยไปยังรัสเซียอาจดำเนินการไม่ได้จึงทำให้ผู้ส่งออกมองการขนส่งสินค้าในเส้นทางอื่น โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ขอให้กระทรวงพาณิชย์เจรจากับประเทศจีน เพื่อให้จีนสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางเข้าไปสู่เอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งการขนส่งทางรางมีต้นทุนที่ถูกจึงกลายมาเป็นอีก 1 ตัวเลือกแต่ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการในช่วงแรกหากเลือกใช้แนวทางนี้
แหล่งข่าว วิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ผลกระทบขยับใกล้ “ไทย”, bangkokbiznews, 01 มี.ค. 2565