ศูนย์วิจัยกรุงศรี ชี้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.5% ต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น การลงทุนมีแนวโน้มหายไป 3.2% เมื่อเทียบกับกรณีฐาน โดยใช้เวลาส่งผ่านผลกระทบประมาณ 5 ไตรมาส ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจหายไป 0.4% ในระยะยาว
เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ในวันที่มหาอำนาจใหญ่ถอนคันเร่งนโยบาย หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ธนาคารกลางเริ่มพิจารณาถอนคันเร่งนโยบายการเงิน โดยเฉพาะในสหรัฐที่ถูกจับตามอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่
ศูนย์วิจัยกรุงศรี พบว่า หากธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายแบบตึงตัวผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.5% จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐและไทยเพิ่มขึ้น 1.5% และ 0.98% ตามลำดับ
ต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้นทำให้การลงทุนมีแนวโน้มหายไป 3.2% เมื่อเทียบกับกรณีฐาน โดยใช้เวลาส่งผ่านผลกระทบประมาณ 5 ไตรมาส ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจหายไป 0.4% ในระยะยาว
ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายสามารถซื้อเวลาก่อนที่ต้นทุนที่สูงขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจจริงได้ ผ่านการทำนโยบายทั้งแบบปกติและนโยบายนอกกรอบ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) การส่งเสริมการลงทุน การเข้าซื้อสินทรัพย์และการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันบัตรรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยต้องซึมยาว
แหล่งข่าว วิจัยกรุงศรี ชี้เฟดขึ้นดบ.แตะ2.5% ฉุดลงทุนหด3.2% -จีดีพีหาย0.4%ระยะยาว, bangkokbiznews, 23 ก.ย. 2564