หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายกลายเป็นโรคประจำถิ่น แม้จะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภค แต่กลับยังต้องเผชิญปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “เงินเฟ้อสูง” ส่งผลต่อราคาสินค้าพุ่ง รายได้ลดลง ทำให้การเลือกจับจ่ายเงินกับสินค้าจำเป็นมากขึ้น รัดเข็มขัดการเดินทางท่องเที่ยว ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า กระเทือนแบรนด์ทำตลาด สะท้อนจากงบโฆษณาปี 2565 มีแนวโน้มโตต่ำ 7.4% เงินสะพัด 81,813 ล้านบาท
นายภาคี เจริญชนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัท อิปซอสส์ จำกัด ผู้นำด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำวิจัย SEA AHEAD wave 6 ซึ่งเป็นการสำรวจสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 6 จากการแพร่ระบาด สู่โรคประจำถิ่น ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอาเซียน ทั้งการซื้อสินค้าและบริการ ความความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ผ่านกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย ช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกประเทศในอาเซียน เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ และการบริโภค
นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางส่วนยังกังวลผลกระทบจากโรคโควิด โดยเฉพาะอาการ Long COVID จากวิกฤติโรคระบาดยังทำให้ผู้บริโภคชาวไทย 96% ตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น และ 83% ยินดีใช้จ่ายเงินเพื่อให้ได้สินค้าและบริการตอบโจทย์การมีสุขภาพที่ดี
ส่วนพฤติกรรมการซื้อสินค้า ประชากรอาเซียนชอปปิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่อเนื่อง และจะไม่วิ่งกลับไปช้อปออนไลน์เหมือนก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว ด้านผู้บริโภคชาวไทยการช้อปที่โดดเด่นคือซื้อสินค้าผ่านไลฟ์คอมเมิร์ซทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูป นำโด่งอาเซียน โดยเปย์ให้กับหมวดเสื้อผ้า แฟชั่น รองเท้า และสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล สินค้าความงาม เป็นต้น
แหล่งข่าว ศก.ไทยฟื้นช้า ‘เงินเฟ้อสูงสุด-เชื่อมั่นต่ำสุด’ ผู้บริโภค แบรนด์ลดใช้จ่าย, bangkokbiznews, 27 ต.ค. 2565