จากปัญหาการบริหารสถานการณ์โควิด ที่ผิดพลาดจนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อทยาน ทะลุเข้า 2 หมื่นราย เสียชีวิตทะลุ 200 รายต่อวัน สวนทางกับตัวเลขการกระจายวัคซีน ที่แม้ทางฝั่งภาครัฐโดยเฉพาะ ศบค.จะยอมรับว่า มีผลในการลดจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก
ทว่า ณ วันนี้ กลับยังปรากฏเสียงทวงถามถึงวัคซีนที่หายไป รวมถึงความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามเป้า ท่ามกลางคำถามที่ว่า เมื่อไหร่คนไทยจะได้ “ฉีดเต็มแขน” เหมือนที่ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนได้รับปากไว้ก่อนหน้านี้
ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นความผิดพลาดเหล่านี้ ยังลามเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านหยิบยกไปเป็นประเด็น “ขยายแผลใหญ่” กลางสภา
“ศึกซักฟอก” รอบนี้ฝ่ายค้านจั่วหัวไว้ก่อนหน้า หวังผลไปถึงการเปลี่ยนใหญ่ ที่อาจไม่ได้มีแค่ “รัฐมนตรีบิ๊กเนม” หากแต่ยังรวมไปถึงกลุ่ม “รัฐมนตรีโนเนม” และ“รัฐมนตรีโลกลืม” ที่อยู่เงียบๆ แต่ฟาดเรียบอีกด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่จะต้องจับตาต่อคือ การเขย่าใหญ่นั่นคือ “ครม.ประยุทธ์2/4” ที่จนถึงเวลานี้ยังมีเสียงเรียกร้องให้ เปลี่ยน “ม้า” กลางศึก ดังสนั่น นับตั้งแต่ประเทศไทยย่างเข้าสู่ “จุดวิกฤติ” ของไวรัสมรณะ
โดยเฉพาะ ในส่วนของเก้าอี้ “รมว.สาธารณสุข” ซึ่งเป็นของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่เวลานี้ถูกพุ่งเป้าอย่างหนัก และถือเป็นอีกหนึ่งด่านวัดใจ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด ที่เวลานี้กำลังยืนอยู่บน “ทาง 3 แพ่ง”
ทางแรก คือยืนยันให้อนุทินทำหน้าที่ต่อ เพื่อความต่อเนื่อง ซ้ำยังเป็นการรักษาสัมพันธ์ภาพที่ดีในฐานะพรรคร่วม เพื่อพยุงเสียงรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
ตามที่บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเคยย้ำนักย้ำหนาว่า “ไม่มีทางสละเรือเหล็กลำนี้อย่างแน่นอน”
ทางเลือกที่สอง คือ การใช้อำนาจนายกฯ เปลี่ยนตัว รมว.สาธารณสุข
ประเด็นนี้มีการประเมินจากระดับ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” พรรคหนึ่งว่า เป็นไปได้ที่ “บิ๊กเนม” ในรัฐบาลอาจยืมมือฝ่ายค้านผ่านศึกซักฟอก ในการสั่นคลอนเก้าอี้รัฐมนตรี โดยเฉพาะเก้าอี้ของ “อนุทิน” แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจต้องแลกด้วยสัมพันธ์ภาพระหว่างพรรครวมรัฐบาลด้วยกัน
ยิ่งไปกว่านั้นมี การประเมินไปถึงขั้นที่พรรคภูมิใจไทยถอนตัว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ย่อมต้องรับสภาพการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ถ้าเป็นสูตรนี้ ก็แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังหวังว่าคะแนนนิยมจะหวนกลับมา ซึ่ง “บิ๊กรัฐบาล” รวมถึง “พรรคร่วม” ต่างยอมรับว่าสูตรนี้ “น่าจะไม่ง่ายอย่างที่คิด”
ภาระจึงตกไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต้องเลือกว่า “ใครอยู่-ใครไป?”
หรือ ทางเลือกสุดท้าย คือ พล.อ.ประยุทธ์ “ยุบสภา” หรือ “ลาออก” แล้วล้างไพ่ใหม่ทั้งหมด
ประเด็นนี้ มีความเห็นจาก "กูรูการเมืองหลายคน" ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า เขา(พล.อ.ประยุทธ์) จะยุบสภาก็ต่อเมื่อประเมินแล้วว่าเกมยังเป็นต่อเท่านั้น
เช่นเดียวกับการประเมินของฝ่ายความมั่นคง ที่ก่อนหน้านี้ออกมายืนยันว่า “รัฐบาลอยู่ครบเทอมอย่างแน่นอน”
ไม่ต่างไปจากศึกนอกสภา นั่นคือ“สารพัดม็อบ”โดยเฉพาะในห้วงเดือน ส.ค.ที่ปรากฎภาพ “เป็นเดือนแห่งการเคลื่อนไหว”
มิหนำซ้ำ ทางฝั่งม็อบเวลานี้ยังปรับกลยุทธ์ ไม่ได้มีแค่“แฟล็ชม็อบ”เหมือนการชุมนุมปลายปี 63 หากแต่ยังเป็นการผสมผสานระหว่าง“แฟลชม็อบ”และ“คาร์ม็อบ”เข้าด้วยกัน ในการยกระดับ “ดันเพดาน” เพื่อขับไล่รัฐบาลประยุทธ์อีกทางหนึ่งด้วย
ฉะนั้นเวลานี้ ถือว่าพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลกำลังเผชิญศึกที่ขนาบรอบด้านที่เร่งเร้าให้ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง
แหล่งข่าว ศึกรอบด้านขนาบ‘ประยุทธ์’ วัดใจเขย่าใหญ่ ‘ใครอยู่-ใครไป’ ?, bangkokbiznews, 11 ส.ค. 2564