แม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ออกมาจากองค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับความรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) หรือการหลบเลี่ยงวัคซีน แต่เชื่อว่า ทุกคนคงจะไม่ประมาท เนื่องจากที่ผ่านมา เรามีบทเรียนมากมายเกี่ยวกับโควิด ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คน ทำให้รู้ว่า เราประมาทไม่ได้แม้สักวินาทีเดียว อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงที่คนเดินทางท่องเที่ยว บวกกับไทยเริ่มเปิดประเทศ การกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศมากขึ้น หรือแม้แต่การเปิดเรียน On-site ของหลายโรงเรียน
ซึ่ง กรุงเทพมหานคร เอง ก่อนหน้านี้ เรียกว่า เป็นพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก รวมถึงมีจำนวนผู้ป่วยที่มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มาจนถึงวันนี้ กรุงเทพมหานคร ได้วางแนวทางในการรับมือ โควิด-19 โอมิครอน อย่างไรบ้าง
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน นั้น ทางกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับทาง ศบค. สกัดการแพร่ระบาดตั้งแต่การเดินทางเข้าประเทศ โดยเปลี่ยนจากการตรวจ ATK มาเป็นการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ตั้งแต่สนามบิน สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ขณะที่ สายพันธุ์โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่ทาง WHO ยังไม่ได้สรุปแน่ชัดว่าจะมีการแพร่ระบาดได้เร็ว อาการรุนแรงมากขึ้น หรือการหลบเลี่ยงวัคซีนได้มากน้อยขนาดไหน แต่อย่างที่มีข้อมูลออกมาว่า สไปค์โปรตีนของสายพันธุ์นี้ มีมากกว่าสายพันธุ์อื่น ดังนั้น มีโอกาสที่จะอันตรายมากกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งทางกรุงเทพมหานครเอง ได้รณรงค์ในการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด
ตัวเลขล่าสุด สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ใน กทม. ซึ่งรวมประชากรแฝง รับวัคซีน เข็ม 1 ไปแล้ว 9,119,054 ราย หรือ 118.44% เข็มที่ 2 จำนวน 8,045,788 ราย หรือคิดเป็น 104.50% เข็มที่ 3 จำนวน 1,118,321 ล้านราย (ข้อมูลจนถึงวันที่ 8 พ.ย. 64) แต่ตอนนี้สิ่งที่เรากังวลค่อนข้างมาก คือ ชาวต่างชาติ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งขณะนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้บริการวัคซีนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใดก็ตาม ทั้งเข็ม 1, 2 หรือเข็มกระตุ้น
แหล่งข่าว สกัด "โอมิครอน" บุก กทม. รณรงค์ฉีดวัคซีน เปิดจองผ่านแอปฯ Que, ไทยรัฐ, 9 ธ.ค. 2564