อุตสาหกรรมด้านดิจิทัลของโลกดูเหมือนต้องติดอยู่ในวังวนของความผันผวนอีกครั้งหลังมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต่อการส่งออกเทคโนโลยีชิปเซมิคอนดักเตอร์ไปยังประเทศจีน รวมถึงการจำกัดการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศจีนเพื่อคงความได้เปรียบในเทคโนโลยีดิจิทัล
มาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะเราเห็นความพยายามในลักษณะนี้มาแล้วในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ที่ตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วเพื่อสะกัดความร้อนแรงของจีน ซึ่งมาตรการดังกล่าวก็เป็นที่ทราบกันดีว่านอกจากไม่ได้ผลแล้วยังมีผลกระทบตามมามากมายจนถึงทุกวันนี้
เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางเป็นพิเศษหลังสถานการณ์โควิดเราจึงเห็นภาวะเงินเฟ้อกระจายตัวในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนค่าเงินผันผวนรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 20 ปี
ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณว่าวิกฤติเศรษฐกิจกำลังจะมาเยือนในระยะ 6-12 เดือนนี้อย่างแน่นอน ซึ่งผลกระทบในระยะแรกอาจเริ่มที่กลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐ แต่ท้ายสุดแล้วก็คงจะลุกลามไปทั่วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
น่าแปลกที่นโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนส่งผลให้ตรรกะในการทำงานของประเทศยักษ์ใหญ่เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ผลักดันให้กระแสการค้าเสรีขยายตัวไปทั่วโลก จนระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของโลกต้องปรับตัวครั้งใหญ่
นั่นคือเรามองทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน เราแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ แหล่งผลิต โรงงานแปรรูป ฯลฯ จากทั่วทุกมุมโลกเพื่อหาต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพดีที่สุด นั่นคือเราแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดได้จากโลกทั้งใบ เพื่อนำมาสร้างเป็นสินค้าและบริการที่ดีสุดเช่นกัน
แนวคิดดังกล่าวก่อให้เกิดองค์กรการค้าระดับโลก และเขตเสรีทางการค้าระดับภูมิภาคมากมาย เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวทางเดียวกันหมด แต่ทั้งหมดกำลังพังทลายลงดัวยแนวคิด ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป
สิ่งที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ และจีนกำลังทำจึงเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ 2 ประเทศข้างต้น แต่เป็นทุกประเทศในโลกที่กำลังประสบ ความเสี่ยงครั้งใหญ่
ความพยายามของสหรัฐ นั้นถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐจริงหรือไม่ เราคงเห็นผลกันดีในทุกวันนี้ด้วยความผันผวนรุนแรงและการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หลายครั้งหลายหน
เพราะแหล่งผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกไม่ได้จำกัดอยู่นาสหรัฐฯ มานานแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่าไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีนเป็นกำลังหลักในการป้อนชิปเซมิคอนดักเตอร์เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมาหลายสิบปี แน่นอนว่าการสกัดดาวรุ่งในครั้งนี้ย่อมทำให้จีนสะดุด จนถึงขั้นต้องปิดโรงงานในด้านนี้ไปหลายๆ แห่ง
แต่การทำเช่นนี้ก็ไม่ได้สร้างผลดีต่อสหรัฐฯ แต่อย่างใด เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐก็ไม่ได้เข้มแข็งขึ้น และก็ยังไม่เห็นแนวโน้มใดที่จะบอกว่าสหรัฐกลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมครั้งนี้ได้อีก
เพราะภูมิทัศน์ของโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว และบทบาทของจีนก็มีมากกว่าที่สหรัฐจะใช้วิธีเดิมๆ จัดการได้อีกต่อไป
แหล่งข่าว สงครามชิป, bangkokbiznews, 01 พ.ย. 2565