นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาน้ำมัน โดยขู่จะขึ้นราคาค่าขนส่ง 20% ว่า ภาคการผลิตมีภาระต้นทุนด้านการขนส่งประมาณ 10% หากภาคขนส่งมีการปรับขึ้นราคาจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นลูกโซ่ ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตาม และผู้บริโภคก็ต้องซื้อของราคาแพงขึ้น แต่ในทางกลับกันหากผู้บริโภคเลือกที่จะลดการใช้จ่ายลงก็ส่งผลกระทบกลับมาที่ผู้ผลิตและผู้ขนส่ง
ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งจริง ผู้ประกอบการภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากไม่สามารถทำสัญญากับกลุ่มผู้ขนส่งในระยะยาวได้ ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่จะมีการทำสัญญาล่วงหน้า 1-3 เดือน ขณะนี้ภาคขนส่งจะยังไม่ปรับขึ้นค่าขนส่ง เพราะภาคขนส่งมีหลายกลุ่ม แต่ถ้าปรับจริงจะกระทบแน่นอน ซึ่งเรื่องราคาน้ำมันและราคาสินค้าแพงเกี่ยวเนื่องกัน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีปัญหาราคาน้ำมัน ถึงเวลาทบทวนปรับโครงสร้างภาษีน้ำมันหรือไม่ ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ได้มีการหารือแล้ว ขอรอการชี้แจงในรายละเอียดที่จะมีการหารือกันอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีแผนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องกองทุนน้ำมัน การจัดเตรียมวงเงินกู้ใช้สำหรับชดเชย และกองทุนน้ำมันก็ติดลบอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมรองรับปัญหาราคาแก๊สอีก โดยปัญหาหลักไม่ได้มาจากเรา แต่มาจากต้นทุนพลังงาน ซึ่งเราพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ สถานการณ์พลังงานยังติดพันอีกเยอะ และไม่ใช่ระยะเวลาอันสั้น เราจะเอางบที่ไหนมาถมตรงนี้ ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมก่อน.
แหล่งข่าว สินค้าจ้องขยับราคาตามค่าขนส่ง, ไทยรัฐ, 10 ก.พ. 2565