สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณเงินฝากเริ่มเติบโตในอัตราที่แผ่วลง
ขณะที่ย้อนดูยอดเงินฝากออมทรัพย์ของบัญชีรายย่อยพุ่งแตะกว่า 6 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านล้านบาทในช่วงสองปีของวิกฤตโควิด-19 ในภาพรวมปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นทั้งบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดาและเงินฝากภาคธุรกิจ
ในรายละเอียดของบัญชีเงินฝากรายย่อยที่เพิ่มขึ้นมาก พบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในขณะที่ปริมาณเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำลดลง ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเงินฝากในภาพรวมน่าจะมีสาเหตุจากการสำรองเงินสดเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการที่เผชิญกับความไม่แน่นอนของรายได้
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคโดยชะลอหรือลดการบริโภคสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ที่อยู่อาศัยหรือรถยนต์ หรือลดการใช้จ่ายในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อการบริโภคลดลง ภาคครัวเรือนจึงมีเงินเก็บในรูปแบบของเงินฝากที่เพิ่มมากขึ้น
ปริมาณเงินฝากมีแนวโน้มลดลงในไตรมาส 3 ปี 2565 เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับปกติได้เร็ว โดยเริ่มเห็นทิศทางเงินฝากเปลี่ยนไปในเดือนสิงหาคม 2565
อีกทั้งถ้าดูเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจะสะท้อนภาพที่สอดคล้องกัน คือปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเริ่มเห็นการกลับมาของการบริโภคสินค้าที่มูลค่าสูง โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์เดือนกันยายน ปี 2565 อยู่ที่ 7.4 หมื่นคัน เพิ่มสูงสุดในรอบ 6 เดือน
ระยะต่อไปทิศทางเงินฝากจะทยอยกลับสู่ระดับปกติดังเช่นในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากปี 2564 ตามความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในมุมของธนาคารพาณิชย์การที่ปริมาณเงินฝากกลับสู่ระดับปกติ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นในการบริหารต้นทุน และสามารถรองรับการเติบโตของสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม
แหล่งข่าว ส่องทิศทางเงินฝากในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้น, bangkokbiznews, 04 พ.ย. 2565