นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ส.ค.2565 คาดว่า กนง.จะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามทิศทางการต่อสู่กับภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ และยุโรป ซึ่งยังมีสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยในขณะนี้จะยิ่งกดดันต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการรวมทั้งประชาชนทั่วไปที่กู้เงินและยิ่งกดดันอำนาจการซื้อ
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.75-1% ทำให้ภาคประชาชนจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับผลกระทบมาก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยครั้งละมากๆเนื่องจากไม่ได้มีแรงกดดันของค่าเงินบาท เพราะล่าสุดเงินบาทเริ่มปรับแข็งค่า จากก่อนหน้านี้ที่เกือบขึ้นไปแตะระดับ37 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น กนง.จึงไม่มีแรงกดดันจากปัจจัยบาทอ่อนค่าที่จะทำให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงเพราะจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ตามหากเงินเฟ้อยังสูง และเศรษฐกิจเดินได้ กนง.น่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้คือ เดือนก.ย.และ พ.ย.ครั้งละ 0.25 % เพื่อไม่ให้ช่องว่างดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศห่างมากจนเกินไป แต่หากว่าเงินเฟ้อในช่วงต่อจากนี้ลดลงก็อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งก็ได้
สำหรับอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ก.ค.2565 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 7.6% แม้ว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้านี้ โดยทั้งปีคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6-6.5% ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งไว้ที่ 1-3% อยู่มาก
แหล่งข่าว ส.อ.ท.ห่วง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ดันต้นทุนการเงินผู้ประกอบการ-ประชาชน, bangkokbiznews, 10 ส.ค. 2565