นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส สายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ของปีนี้ว่า หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจปรับลดลง เล็กน้อย เนื่องจากคาดว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 จะขยายตัวเป็นบวกสูงพอสมควร จากผลของฐานต่ำในปีที่แล้วที่เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 หดตัวกว่า 12% อย่างไรก็ดี หากมองไกลถึงสิ้นปีนี้ ภายใต้สมมติฐานว่า เศรษฐกิจปีนี้โตประมาณ 1% ขณะที่มูลหนี้ครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปียังขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปีมีโอกาสแตะ 93% ของจีดีพีได้ ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ยังไม่ได้รวมหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) สินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ ซึ่งมียอดรวมกันประมาณ 500,000 ล้านบาท ไม่ได้รวมหนี้ที่สถาบันการเงินตัดหนี้สูญแล้ว และไม่ได้รวมหนี้นอกระบบ หมายความว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงเลวร้ายกว่าตัวเลขที่เราเห็น
นอกจากนั้น เมื่อเจาะลึกลงไปที่โครงสร้างของหนี้ครัวเรือนไทย พบว่าหนี้เพื่อการบริโภคทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นและดอกเบี้ยแพงมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ทำให้ภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนไทยสูงมาก โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด พบว่า ณ สิ้นปี 2563 ประมาณ 1 ใน 4 ของครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้
แหล่งข่าว หนี้ครัวเรือนพุ่งจ่อแตะ 93% จีดีพี ธปท.กังวลคนผ่อนไม่ไหวจี้แบงก์ช่วยลูกหนี้ด่วน, ไทยรัฐ, 30 ก.ค. 2564