ช่วงนี้ตลาดเงินตลาดทุนเผชิญกับสารพัดปัจจัยรุมเร้า ทั้งความวิตกกังวลต่อ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” กดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ “เงินเฟ้อ” พุ่งไม่หยุดตามทิศทางราคาพลังงาน จากผลกระทบภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ลากยาวมาตั้งแต่ต้นปีและดูแล้วไม่น่าจะจบง่ายๆ
ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งแรงทั่วโลก นำโดยพี่ใหญ่สหรัฐเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 41 ปี ส่วนยูโรโซนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปี เดินหน้าทำนิวไฮใหม่ ขณะที่ไทยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเดือน มิ.ย. พุ่ง 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี
เงินเฟ้อขาขึ้นกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ธนาคารกลางต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และมีแผนจะขึ้นอีกในการประชุมทุกครั้งที่เหลือของปีนี้ โดยมีเป้าหมายว่าสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.4% จาก ระดับ 1.50-1.75% ในปัจจุบัน
เมื่อประตูดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐถูกเปิดออก เม็ดเงินจากทั่วทุกมุมโลกแห่ไหลเข้าทันที ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งโป๊ก! สวนทางเงินบาทอ่อนค่าแรงมากที่สุดในรอบ 6 ปี ทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐกับไทยที่ห่างออกไปเรื่อยๆ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ 0.5% หวังช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ
โดยปีนี้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นมาแล้วกว่า 8% จากระดับปิดสิ้นปี 2564 ที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ และยังมีโอกาสที่จะอ่อนค่าได้อีก หากแบงก์ชาติยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย หรือเกิดการระบาทระลอกใหม่ขึ้นในประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ผลักดันให้เงินไหลออก
แน่นอนว่าเมื่อเงินบาทอ่อนค่าย่อมมีทั้งฝั่งที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดย “ผู้นำเข้า” จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากเงินบาทอ่อนค่า เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการนำเข้าสินค้า
ส่วน “ผู้ส่งออก” ที่รับเงินเป็นดอลลาร์ เมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทจะได้จำนวนเงินที่มากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาถูกลงในสายตาคู่ค้า
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย นำสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ขณะที่สินค้าต่างๆ ดูมีมูลค่าลดลง
แหล่งข่าว หุ้นส่งออกเฮ! "เงินบาทอ่อนค่า" ทุบสถิติรอบ 6 ปี, bangkokbiznews, 10 ก.ค. 2565