ลุ้นกันสุดๆทั้งประชาชนและผู้ประกอบการเมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมหารือและประกาศใช้ค่าธรรมเนียมการทวงถามตามหนี้ในอัตราใหม่ เพื่อลดภาระให้กับประชาชนในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่
รอบนี้คาดว่าแตะสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งเช่าซื้อ หรือ ลิสซิ่ง สินเชื่อจำนำทะเบียน บัตรเครดิตและเงินสด ซึ่งในตลาดนี้ผู้ประกอบการมีทั้งรายใหญ่ในกลุ่มสถาบันการเงินและ ธุรกิจปล่อยสินเชื่อโดยตรง
สาเหตุที่เริ่มมีการพูดถึงค่าธรรมเนียมทวงหนี้ขึ้นมานั้นมาจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ออกมา สูงถึง 14 ล้านล้านบาท ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนมาแตะ 90.5 % จีดีพี
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลจากรายได้ของประชาชนลดลง ภาระหนี้เดิมเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธปท. ต้องการเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ผ่านกลไกแก้ปัญหาหนี้ที่ผ่านมา เช่น คลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ มาตรการลดเพดานดอกเบี้ย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลลงอีก 2-4% และมาตรการดูแลในสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 จนล่าสุดมาตรการระยะ 3 ในช่วง พ.ค.2564
และล่าสุดเดือนส.ค.2564 เปิดตัวโครงการ “หมอหนี้” ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือลูกหนี้รายกลุ่ม รวมทั้งการเข้ามาคุมค่าธรรมเนียมในการทวงหนี้ให้มีอัตราลดลงซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศในเดือนนี้ มีแนวทางเป็นไปได้ที่ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะลดลงมาเหลือ 50 บาทต่อรอบบัญชี
ที่ผ่านมาไทยมี พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เกิดขึ้นหลังจากมีการทวงถามหนี้ต่อลูกหนี้ที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง คุกคาม ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือ กระทำการให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียงและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับบุคคลอื่น
หากแต่ในเชิงปฎิบัติกลับอาศัยช่องโหว่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินภายใต้ควบคุมของ ธปท. มีต้นทุนและค่าบริหารไม่เหมือนกัน หรือ ทำธุรกิจตามหนี้ทวงหนี้นอกกฎหมาย จนกลายเป็นดอกเบี้ยขาโหดบ้าง
จนปี 2559 ธปท.ได้แจ้งประกาศอัตราค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสูงสุดไม่ไม่เกิน 200 บาทต่อรอบบัญชีจากเดิมที่เคยมีการจัดเก็บสูงสุด 500 -1,000 บาทต่อรอบบัญชี
ต่อมาปี 2561ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ มีการกำหนดจำนวนครั้งในการติดตามทวงถามหนี้ ไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน ยังกำหนดเรื่องการทวงหนี้ว่า ต้องห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรงห้ามประจาน จันทร์-ศุกร์ ทวงได้แค่ 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการทวงได้ตั้งแต่ 08.00-18.00 น.เท่านั้น วัน โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่21 พ.ย.2561
ครั้งล่าสุดปี 2563 มีการกำหนดค่าธรรมเนียมออกอีกรอบคือหาก ค้างชำระ 1 เดือนจะคิดค่าธรรมเนียมที่ 80 บาท ที่เหลือค้างชำระ 2-3 เดือนคิดค่าธรรมเนียม 100 บาทเท่ากัน แต่สุดท้ายยังปฎิบัติจริงไมได้ทั้งหมด ด้วยผู้ประกอบการเช่าซื้อ หรือลิสซิ่งมากกว่า 50 ราย ต่างมีการคิดค่าธรรมเนียมแตกต่างแต่อยู่ภายใต้รอบเวลา 180 วันหรือ 6 เดือน
อย่างไรก็ตามในรอบนี้มีการออกมาพูดถึงตัวเลขของ ธปท. ในการคุมค่าธรรมเนียมทวงหนี้กดลงไปเหลือ 50 บาทต่อรอบบัญชี ในกรณีค้างไม่เกิน 1 งวด หรือค้างชำระ 2 งวดขึ้นไป ต้องไม่เกิน 100 บาท และค่าติดตามจากการลงพื้นที่ 400 บาท
แน่นอนว่ายังมีเสียงแตกมาจากฝั่งผู้ประกอบการที่ต้องรับความเสี่ยงปล่อยสินเชื่อประเภทนี้สูง มีต้นทุนแตกต่างกันในแต่ละบริษัท ทำให้ไม่คุ้มที่ทำให้ต้องลดต้นทุนด้านอื่นแทน ทั้งนี้ต้องรอดูว่าธปท.ประกาศเกณฑ์ดังกล่าวออกมาเมื่อไร และจะมาพร้อมกับผลกระทบในหุ้นกลุ่มนี้ตามไปด้วย
แหล่งข่าว หุ้นไฟแนนซ์-ลิสซิ่ง ระทึก คุมทวงหนี้-หั่นค่าธรรมเนียม, bangkokbiznews, 11 ส.ค. 2564