เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ซึ่งบรรยากาศโดยรวมน่าจะคึกคักขึ้น หลัง ศบค. ไฟเขียวให้จัดกิจกรรมต่างๆ ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ทั้งงานเคาท์ดาวน์ การสวดมนต์ข้ามปี ไปจนถึงอนุญาตให้ร้านอาหารขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และให้ลูกค้านั่งดื่มได้ถึงตี 1 ของวันที่ 1 ม.ค. 2565
ถือเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลมอบให้กับคนไทย หลังไม่สามารถจัดงานมา 2 ปี ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ทุกกิจกรรมต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวดสูงสุด COVID-Free Setting เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบใหม่
นอกจากนี้ นายกฯ สั่งการให้ทุกกระทรวงไปหาของขวัญให้ประชาชน โดยต้องนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ ซึ่งมีการคาดการณ์กันไว้หลายมาตรการ เช่น นำช้อปดีมีคืนกลับมาอีกครั้ง, มาตรการคนละครึ่ง เฟส 4 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ
โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดงานมหกรรมลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
อีกหนึ่งมาตรการที่หลายคนรอลุ้นกันอยู่คือ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ภายในเดือนนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันทีในปี 2565 โดยจะทำเป็นแพ็กเกจชุดใหญ่ครอบคลุมทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
เบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดทั้งภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต รวมทั้งมีเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อดึงราคารถอีวีให้ถูกลงจะได้ดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น จากปัจจุบันราคารถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างสูงเฉลี่ยราวๆ 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามกระแสข่าวที่ออกมามาตรการที่จะนำเสนอ ครม. จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษีศุลกากร หรือ ภาษีนำเข้าสูงสุด 80% และลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% จากปัจจุบัน 8% และยังมีส่วนลดที่ภาครัฐทำกับค่ายรถยนต์เพิ่มเติม รวมแล้วจะทำให้ราคารถลดลงราว 20%
2.กลุ่มราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป จะลดภาษีนำเข้าสูงสุด 20% และลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% จากปัจจุบัน 8% แต่ไม่มีส่วนลดเพิ่มเติมจากภาครัฐ ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องรอดูว่ามาตรการออกมาจะตรงกับที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่? และจูงใจแค่ไหน?
เพราะต้องยอมรับว่าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้หลายคนยังลังเลที่จะซื้อรถอีวี คือ ราคาที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จที่อาจยังไม่ครอบคลุมมากพอ
ในมุมตลาดทุนปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยหลายบริษัทสนใจลงทุนธุรกิจอีวี ตั้งแต่ตัวแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนซึ่งถือเป็นหัวใจของรถอีวี, แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ไปจนถึงการประกอบรถอีวีและสถานีชาร์จ
โดยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ของประเทศที่กระโดดลงสู่สนามอีวีและทำธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งล่าสุดได้คิฟออฟเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่อีอีซีเป็นที่เรียบร้อย โดยมีกำลังการเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ถือเป็นโรงงานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยสามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
ส่วนโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบี จำกัด จะเปิดเดินสายการผลิตในเดือนม.ค. 2565 รองรับทั้งการผลิตรถยนต์ 4 ล้อ, 6 ล้อ, 10 ล้อ, รถบัสไฟฟ้า, รถเทเลอร์ มีกำลังการผลิต 6,000-8,000 คันต่อปี ใช้เป็นฐานการผลิตรถอีวีภายใต้แบรนด์ของบริษัทและรับจ้างผลิตให้กับลูกค้า ขณะนี้มีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาและเตรียมส่งมอบปีหน้าจำนวน 500 คัน นอกจากนี้ ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,000 สถานีในปีหน้า จากปัจจุบัน 500 สถานี มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ประมาณ 50%
ด้านราคาหุ้น EA เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. พุ่งแรงติดจรวด ครองแชมป์หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายและราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด หลังมีแหล่งข่าวออกมาเปิดเผยรายละเอียดมาตรการส่งเสริมรถอีวี
โดยปิดออลไทม์ไฮ 98 บาท ขยับใกล้ 100 บาทเข้ามาเรื่อยๆ ถือว่าสมราคาในฐานะผู้นำธุรกิจอีวีเมืองไทยที่มองการณ์ไกลกระโดดเข้ามาลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนโลก
และหากย้อนไปดูตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้น EA โชม์ฟอร์มเทพ ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ปรับตัวขึ้นมาเกือบ 100% จากราคาปิดปี 2563 ที่ 49.25 บาท นาทีนี้ใครที่กำลังลังเลต้องรีบตัดสินใจ ลองคิดวิเคราะห์ให้ดี ถ้ามองว่าธุรกิจอีวีจะจุดติด! จากบิ๊กแพ็กเกจของภาครัฐ ไม่ควรปล่อยให้ราคาหุ้นวิ่งไปไกลกว่านี้
แหล่งข่าว อีวีเปลี่ยนโลก! จุดพลุหุ้น EA พุ่งติดจรวด, bangkokbiznews, 19 ธ.ค. 2564