วานนี้ (15 ก.ย.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประชุมหารือร่วมกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เรื่องการเตรียมแนวทางบูรณาการความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชากรในกรุงเทพฯ คืบหน้าไปมากแล้ว โดยการฉีดวัคซีนจะต้องไม่น้อยกว่า 70% ของประชากรในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาเปิดเมืองนั้นๆ
นายพิพัฒน์ กล่าวว่าการหารือร่วมกับผู้ว่า กทม. ได้ตกลงร่วมกันว่าจะเปิด "กรุงเทพฯ" รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2564 เป็นต้นไป เนื่องจากต้องรอความพร้อมเรื่องการกระจายวัคซีนแก่ประชากรในกรุงเทพฯให้ครบทั้ง 2 เข็มเกิน 70% ก่อน โดยปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกแก่ประชากรในกรุงเทพฯเกิน 70% แล้ว ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดได้ 37% ยังขาดอีก 33% ซึ่งจะฉีดเข็มที่ 2 ถึง 70% ภายในต้นเดือน ต.ค.นี้ ทั้งนี้เบื้องต้นอาจเรียกโครงการเปิดกรุงเทพฯรับนักท่องเที่ยวต่างชาติฯว่า “แบงค็อก แซนด์บ็อกซ์” (Bangkok Sandbox)
“การเปิดกรุงเทพฯ ครั้งนี้ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวได้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ไม่เหมือนจังหวัดนำร่องอื่นๆ ที่เปิดเฉพาะพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญเท่านั้น เพราะหากเปิดแค่บางเขตหรือบางพื้นที่จะทำให้ยากต่อการควบคุม ทางผู้ว่า กทม.เองก็บอกว่า แค่ขับรถจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไปขึ้นทางด่วนยมราช ก็ผ่านไป 3 เขตแล้ว การไปกำหนดเปิดแค่บางเขตก่อนจะทำให้ขีดวงควบคุมลำบาก”
ส่วนปริมณฑล ยังไม่เปิดพร้อมกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรใที่ได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 30-40% เท่านั้น ต้องรอให้ได้เกณฑ์ 70% ก่อน ถึงจะดำเนินการเปิดเมืองตามรอยกรุงเทพฯได้
แม้การเปิดกรุงเทพฯจะล่าช้าไป 2 สัปดาห์จากไทม์ไลน์แผนเปิดประเทศ ระยะที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯเสนอให้เริ่มเปิด 5 จังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ชลบุรี (เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ) แต่เพื่อความปลอดภัยของประชากรในกรุงเทพฯเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงต้องเลื่อนวันดีเดย์เปิดกรุงเทพฯเป็นวันที่ 15 ต.ค.นี้แทน
ชี้ปี 64 นำร่องเปิดรับต่างชาติได้ 9 จังหวัด
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หรือแม้แต่คนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก็เข้าร่วมโครงการ “แบงค็อก แซนด์บ็อกซ์” ได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกันโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” คือต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทางและถูกตรวจหาเชื้อในประเทศอีก 3 ครั้ง และต้องเข้าพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA+ เท่านั้น
โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเขตไหนก็ได้ภายในกรุงเทพฯ แต่ต้องกลับมานอนที่โรงแรม เมื่ออยู่กรุงเทพฯครบ 14 วันถึงจะเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้ หรืออาจพำนักในกรุงเทพฯครบ 7 วันแรก และใน 7 วันหลัง สามารถไปเที่ยวพื้นที่นำร่องอื่นๆ ในอีก 8 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) พังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่) รวมทั้งพื้นที่ที่จะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 24 ก.ย.นี้พิจารณาพร้อมกัน ประกอบด้วย เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ดอยเต่า อ.แม่ริม อ.แม่แตง) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ)
แหล่งข่าว เปิด "กรุงเทพฯ" รับทัวริสต์ต่างชาติ ดีเดย์ 15 ต.ค. เที่ยวได้ทุกเขตทั่วกรุง!, bangkokbiznews, 16 ก.ย. 2564