นายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ รองประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัทอมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในการสัมมนา GO GREEN เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว ว่า ปัจจุบันภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมไปทั่วโลกทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วม สภาพอากาศแห้งแล้ง ทำทั่วโลกหันกลับมาสนใจที่จะลดก๊าซคาร์บอนมอร์นอกไซต์เพื่อลดภาวะโลกร้อน ในประเทศไทยก็มีนโยบายลดก๊าซคาร์บอน นโยบายการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้รถไฟฟ้า ในส่วนของภาคเอกชนพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิต เพียงแต่รอความชัดเจนด้านนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอน ลดภาวะโลกร้อน โดยภาคเอกชนรอนโยบายจากภาครัฐว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร หากชัดเจนภาคเอกชนก็พร้อมที่จะลงทุนในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน จากเดิมที่บริษัททำธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว เช่น การตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้นนายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก็ส จำกัด กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของบริษัทคือการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน ซึ่งการเข้าไปสู่เป้าหมายต้องมาจากนวัตกรรมทางอากาศที่ไม่มีขีดจำกัด ทั้งการใช้ออกซิเจนในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมกระจาก ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ ลดก๊าซคาร์บอน ลดภาวะโลกร้อน ไนโตรเจน ใช้ในอุตสาหกรรมการถนอมอาหาร ไฮโดรเจน ใช้เป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปสู่จุดหมายการลดโลกร้อนอยู่แล้ว โดยแผนการทำธุรกิจในอนาคตคือโลว์คาร์บอน โดยการนำนวัตกรรมที่ไร้ขีดจำกัดทางอากาศทั้งออกซิเจน ไนโตรเจนและโฮโดรเจน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“เทรนด์โลกกำลังเข้าสู่การช่วยกันลดภาวะโลกร้อน และกลายเป็นเงื่อนไขในเรื่องของการค้าหากไทยจะค้าขายก็ต้องตระหนักในเรื่องนี้ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยต้องมองเรื่องอิโคซิสเต็ม ที่ต้องทำทั้งหมดไม่ใช่ทำส่วนใดส่วนหนึ่ง อุตสาหกรรมใหญ่เช่น ปิโตรเคมี โรงกลั่น ที่สามารถดำเนินการเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว แต่ในส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆที่ไม่พร้อม ก็ต้องกลับมาช่วยเหลือกัน เช่น รถยนต์ 1 คัน มีส่วนประกอบหลายชิ้น ถ้าจะไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกก็ต้องให้ก้าวไปได้พร้อมๆกัน”นายปิยบุตร กล่าว
ดร.กรณ์กณิศ แสงดี ผู้อำนวยการส่วนงานนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเชสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้านอาหารมานานกว่า 33 ปี ซึ่งกระบวนการผลิตจะใช้ทรัพยากรและพลังงานมาก ทำให้เกิดของเสียจำนวน จึงได้มีการปรับกระบวนการผลิตให้ใช้ทรัพยากรและพลังงานให้น้อยที่สุดแต่เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมองถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ การปรับปรุงกระบวนการผลิต จนถึงการได้ผลิตภัณฑ์ การปรับเครื่องจักรโดยการระบบอัจฉะริยะมาใช้ การติดโซลาร์เซลล์ในโรงงงานเพื่อนำพลังงานแสงมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
การที่จะเข้าสู่สังคมโลว์คาร์บอน จะต้องทำให้องค์กรสามารถดำเนินการในเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด โดยการให้ความรู้กับองค์กรนั้นๆทั้งการลดต้นทุน การใช้ทรัพยากร การลดใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร และธุรกิจต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สุดท้ายก็จะสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนทั้งให้ความรู้ด้านปรับธุรกิจ การให้ทุนสนับสนุน การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากภาครัฐเพื่อจูงใจให้เข้าสู่สังคมโลว์คาร์บอน
แหล่งข่าว เอกชนพร้อมลดคาร์บอน แนะรัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจ, bangkokbiznews, 01 ก.ย. 2564