หลายคนคงมีความกังวลว่ารัฐบาลจะมีการเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่ หลังหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปี 63 ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อมาแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.เคยให้สัมภาษณ์ และให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องหนี้สาธารณะไว้ก่อนหน้านี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ขอรวบรวมเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้
- หนี้สาธารณะ คือ หนี้ของประเทศไทย ตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ จะกำหนดไว้ว่า เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังกู้ยืม รวมทั้งหนี้รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่รัฐเป็นผู้ค้ำประกัน
- ปัจจุบัน ณ วันที่ 28 ก.พ. 64 หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 51.9% ต่อ GDP
- ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้เงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และกู้เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ถนนวงแหวน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างงานและทำให้เอกชนมีสภาพคล่อง รวมทั้งบางโครงการมีผลตอบแทนให้แก่รัฐบาลด้วย
- ในความเป็นจริงหนี้สาธารณะจำนวน 8.1 ล้านล้านบาทนั้น มีเงินที่เป็นเงินกู้ตรงของรัฐบาล หรือกู้เนื่องจากรัฐบาลออกพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. เงินกู้พิเศษ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงโควิดที่ผ่านมา ดังนั้น หนี้ที่รัฐบาลต้องแบกรับทั้งหมด ประมาณ 6.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ของพอร์ตหนี้สาธารณะทั้งหมด
- ส่วนเงินที่เหลืออีกประมาณ 1.77 ล้านล้านบาทนั้นมาจากการค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ชำระเอง ซึ่งหนี้จำนวนนี้จะไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะในภาพรวม
- ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปีงบประมาณ 64 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 ถึง 30 ก.ย. 64 คาดว่าจะอยู่ประมาณ 56% ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% ต่อ GDP แน่นอน
- ระดับหนี้สาธารณะของไทยปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณ 40% ต่อจีดีพี หลังจากรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากเงินงบประมาณในปี 64 ไม่เพียงพอ
- การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะของไทยสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ตลาดเกิดใหม่และประเทศในเอเชีย เฉลี่ยการก่อหนี้สาธารณะอยู่ที่ 67% จากเดิมอยู่ที่ 60%
- กระทรวงการคลังมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติการคลังอย่างใกล้ชิด ผ่านแบบจำลอง Fiscal Early Warning System
- สิ้นปีงบประมาณ 63 ค่าดัชนีรวมเตือนภัยล่วงหน้าอยู่ที่ 2.47 มีค่าสูงขึ้นจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 62 ซึ่งอยู่ที่ 1.44 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- แต่ค่าดัชนีรวมเตือนภัยล่วงหน้ายังคงต่ำกว่าระดับขีดเตือนภัยที่อยู่ที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจะต้องมีการเฝ้าระวังและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด แต่รัฐบาลยังคงมีพื้นที่ว่าง หรือ room ในการจัดทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น
แหล่งข่าว ใครว่ารัฐถังแตก เปิดพอร์ต "หนี้สาธารณะ" ของไทย หนี้จริงแค่ 6.3 ล้านล้าน, ไทยรัฐ, 17 เม.ย. 2564